เพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างปอดใหม่ให้ชุมชน
เกือบทุกตารางเมตรในพื้นที่กรุงเทพฯ เวลานี้ถูกปกคลุมไปด้วย "ป่าคอนกรีต" ที่ผุดราวดอกเห็ด กลืนพื้นที่สีเขียวของ "ต้นไม้" ที่เคยแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงา ชูช่อดอกสวยงาม สร้างความสดชื่นให้กับคนกรุงจนเกือบหมดสิ้น…
เพื่อไม่ให้พื้นที่สีเขียวค่อยๆ ร่อยหรอไปจนเหลือ "ศูนย์" เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรม "1,000 ต้น 1,000 ชื่อ : พื้นที่สุขภาวะ พื้นที่สีเขียว เขตภาษีเจริญภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สุขภาวะบริบทเขตเมือง เขตภาษีเจริญ กทม." ดึงพลังชุมชน วัด โรงเรียนในเขตพื้นที่ภาษีเจริญมาร่วมปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้น โดยมีพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะภาค 7 เป็น ผู้แทนเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานที่ปรึกษาโครงการ เป็นประธานมอบต้นไม้ให้กับตัวแทนชุมชนเขตภาษีเจริญและร่วมปลูก
ต้นไม้บริเวณสวนสันติภาพ ม.สยาม
โดย ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน เล่าปัญหาและที่มาของโครงการว่า เขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนทำสวนทำไร่ แต่เมื่อความเจริญเข้ามาทั้งคอนโดฯ เส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น ต้นไม้ที่เคยมีก็ถูกผลักดันหายไปซึ่งนี่เป็นบริบทของความเป็นเมืองกรุง ซึ่งจากที่ตนมีโครงการร่วมกับ สสส.เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะนำร่องในเขตภาษีเจริญมา 2 ปีก็พบว่าเรื่องพื้นที่สีเขียว เป็นปัญหาสำคัญของเขตภาษีเจริญ เพราะข้อมูลค่ามาตรฐานของ กทม.ที่กำหนดไว้ว่าควรมีสวนสาธารณะสำหรับคนกรุง 16 ตารางเมตรต่อคน แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลเขตภาษีเจริญพบว่าค่ามาตรฐานเราอยู่ในขั้นวิกฤตมากเหลือเพียง 0.02ตารางเมตรต่อคน เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ความเจริญกับต้นไม้อยู่คู่กันได้ มีป่าคอนกรีตที่ไหนก็มีต้นไม้ตามไปที่นั่น จึงเป็นที่มาให้ ม.สยาม โดย ศวพช. สสส. เขตภาษีเจริญ ร่วมด้วยภาคีเครือจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ โดยใช้ต้นไม้เป็นสายใยสานสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการร่วมมือของชุมชน วัด โรงเรียน สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่อยู่ในเขตภาษีเจริญมาร่วมกันปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน
"เราใช้วิธีสร้างและปลูกฝังให้ยืนยาวให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของต้นไม้ โดยต้นไม้ทุกต้นที่นำมาแจกวันนี้จะมีป้ายหัวใจที่ให้เขียนชื่อผู้ปลูกไว้ เขาจะต้องหมั่นมาดูแลให้ต้นไม้เติบโต ขณะเดียวกัน ต้นไม้ยังช่วยสร้างสายใยความผูกพัน
จากรุ่นสู่รุ่นด้วย เช่น พ่อกับแม่ปลูก ลูก ๆ ก็สามารถมาช่วยดูแลหรือมาช่วยกันปลูกเพิ่ม ในโรงเรียนถ้ารุ่นพี่ที่ปลูกเรียนจบออกไปรุ่นน้องก็ต้องช่วยกันดูแลต่อ ฯลฯ เป็นการสร้างเพิ่มจำนวนต้นไม้และขยายพื้นที่สีเขียวได้ต่อเนื่องและยั่งยืน และกิจกรรมวันนี้เห็นได้ชัดว่าชาวภาษีเจริญตื่นตัวที่จะร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว เพราะจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000 คน 1,000 ชื่อ แต่ปรากฏว่าทุกคนร่วมใจเพิ่มจำนวนต้นไม้ให้เขตภาษีเจริญถึง 2,540 ต้นคิดเป็นพื้นที่รวม 6,008 ตารางวา เพราะฉะนั้น แค่ทุกคนร่วมใจกันปรับพื้นที่ชีวิตก็เปลี่ยน"ดร.กุลธิดา กล่าว
ดร.กุลธิดา บอกด้วย เราจะไม่ทำกิจกรรมนี้แค่ปลุกกระแสแล้วเงียบหาย แต่จะขับเคลื่อนเป็นนโยบายระดับเขต มีคณะทำงานพื้นที่สุขภาวะระดับเขตขึ้นซึ่งมาจากตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ร่วมติดตามผลการทำงานและวางแนวทางขยายผลการทำงานให้ยั่งยืน และอนาคตจะทำข้อเสนอแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปยัง กทม.ด้วย
จากนั้น ผู้ร่วมกิจกรรมทั้งนายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดี ม.สยาม นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผอ.เขตภาษีเจริญผู้บริหารเจ้าหน้าที่ นักศึกษา ม.สยาม และชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมได้เข้ามาเลือกต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ที่นำมาปลูกมีทั้งไม้ยืนต้น และไม้ประดับ ก่อนจะแบ่งกลุ่มเพื่อนำต้นไม้ไปปลูกบริเวณชุมชนราชมนตรีร่วมใจ และวัดจันทร์ประดิษฐาราม ขณะที่บางส่วนนำต้นไม้ไปปลูกที่บ้านและชุมชนของตน
ถึงเวลาแล้วที่เวลานี้คนกรุงจะตื่นตัวร่วมกันทวงคืนพื้นที่สีเขียว ด้วยการช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อเรียกคืนความสุข สร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้ทั้งตนเองและลูกหลานอย่างยั่งยืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ โดยเกศกาญจน์ บุญเพ็ญ