เตรียมชุมชนให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ บทเรียนจากปัจจุบันสู่อนาคต

 

ประเทศไทยที่กำลังประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมหนักอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่นครสวรรค์ และอีกหลายๆ พื้นที่รวมถึงกรุงเทพมหานคร ก็ไม่วายที่จะได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัย ขาดทั้งเครื่องอุปโภค-บริโภคสร้างความเดือดร้อนอย่างมหาศาล ยากที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้แต่ด้วยความเอื้ออาทร และความพร้อมใจของคนทั้งประเทศที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ได้ช่วยกันเกื้อหนุนเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ร้อนของคนที่ประสบอุทกภัย ทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น จะผ่านพ้นไปได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนเข้มแข็ง…

คุณปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ในโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นแกนหลักกล่าวว่า จากการที่เราได้ทำงานลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่น้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา ปทุมธานี อุบลราชธานีและอื่นๆ อีก ที่กำลังประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเด่นชัดในยามนี้คือ เรื่องของการมีน้ำใจ ช่วยเหลือกันของคนในชุมชน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี หากแต่บางครั้งการช่วยเหลือหรือการแก้ไขปัญหานั้น กลับเป็นการที่ต่างชุมชนต่างทำกันเองผิดถูกก็ทำกันไปส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน จนทำให้เกิดความเดือดร้อนซ้ำซากขึ้นอีกไม่รู้จบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยการที่เราต้องมีตัวเชื่อมประสานให้ทุกชุมชนใกล้เคียงหันมาทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวและลดการทะเลาะกันในพื้นที่ให้ได้

คุณปรีดา ย้ำให้ได้ยินกันชัดๆ ว่า “โดยส่วนตัวมองว่าการจะแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่ชุมชนกำลังประสบอยู่ตอนนี้ให้ยั่งยืนนั้น เราจำเป็นจะต้องเชื่อมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัด หมู่บ้านและชุมชนที่ประสบปัญหา รวมถึงชุมชนใกล้เคียงทั้งหมด หันหน้ามาพูดคุย หารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน สนับสนุนให้มีกระบวนการพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อจะได้แก้ไขได้ครบในหลายมิติ เพราะในเวลาเช่นนี้ อย่ามัวแต่จะไปโทษใครเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข”

เท่าที่ผ่านมา มูลนิธิชุมชนไท ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัย ด้วยการเข้าไปพูดคุย ให้ความรู้ แนะนำ พร้อมทั้งช่วยประสานเชื่อมโยงให้ทุกหน่วยงานมาพบเจอ พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ให้ทุกคนในชุมชนได้รู้ เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือ และก็เป็นไปตามที่หวังไว้ เพราะชาวบ้านเกิดการตื่นตัวในการที่จะร่วมมือช่วยกันทั้งในชุมชนและละแวกใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่าเรื่องของข้อมูล ข่าวสารนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะคนในชุมชนจำต้องทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่กำลังจะมาปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อจะได้หาทางป้องกันได้ถูกและทันเวลา  ตัวอย่างเท่าที่ผ่านมาชาวบ้านแทบไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เลยนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซากเกิดขึ้น หากทุกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ สามารถเชื่อมโยงทุกๆ ฝ่ายได้การป้องกัน ร่วมถึงความช่วยเหลือแก้ไขก็จะผ่านไปได้ด้วยดี

และเมื่อหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง ระดับน้ำลดภาพที่จะเห็นตามมาก็คงเป็นการช่วยเหลือกันของคนในชุมชนเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ขนย้ายข้าวของเครื่องใช้เข้าที่ฟื้นฟูสภาพชุมชนและรวมถึงฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนในชุมชนเพราะบางคนอาจสูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียทั้งที่นา สวน ไร่ต่างๆ แต่ทั้งนี้ ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกชุมชนควรที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ หลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คนในชุมชนต้องหันหน้ามาร่วมพูดคุยกัน ประชุมหารือ ร่วมกันถอดบทเรียนและสำรวจข้อมูลในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่รับน้ำ สำรวจว่าจุดไหนรับน้ำได้บ้าง มาวางแผนด้วยกัน และต้องมีแผนการปฏิบัติใช้จริง เพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อนอีก

“ท้องถิ่น ชุมชน หรือ อบต.น่าจะเป็นตัวเริ่มต้นในการดึงทุกฝ่ายมาร่วมหารือ ถอดบทเรียน เพื่อเตรียมรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเองต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่ามัวแต่นั่งรอ เพราะภูมิประเทศแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน หน่วยงานที่ช่วยเหลือไม่สามารถรู้ว่าพื้นที่ไหนรุนแรงเท่าใด ชุมชนต้องลุกขึ้นมารวมตัวกันคิด แก้ไขป้องกันแต่การแก้นั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมระยะยาวด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้ลดการใช้โฟม ลดการใช้พลาสติกเพื่อลดโลกร้อน ที่เป็นต้นต่อของปัญหาภัยต่างๆและที่สำคัญเราต้องสร้างผู้นำที่เข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขได้ในทุกๆ พื้นที่” คุณปรีดากล่าว

ไม่ว่าจะเกิดปัญหาภัยพิบัติใด การพร้อมรับสถานการณ์ของท้องถิ่นก็คือหัวใจสำคัญ เพราะหน่วยงานจากภายนอกกว่าจะเคลื่อนตัวลงมาช่วยเหลือ ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และไม่สามารถอยู่เกาะติดกับพื้นที่ได้นานหากชุมชนเข้มแข็งมีความพร้อมในการรับมือ ไม่ว่าภัยใดๆ ก็ผ่านพ้นไปได้ทั้งนั้น

 

 

ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code