หยุดข่าวปลอมด้านสุขภาพ “เสพอย่างมีสติ เช็กก่อนแชร์”
ที่มา : ข่าวสด
แฟ้มภาพ
เผยคนไทยเสพข่าวปลอมด้านสุขภาพ ช่วง โควิด-19 ผ่านช่องทางยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พบหลายข่าวมีการแชร์ต่อจำนวนมาก แต่ให้ความเห็นในเชิงแก้ข่าวน้อย แนะคนไทย รู้เท่าทันสื่อ รัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อหลัก ร่วมมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจ แก้ข่าวปลอม ให้ข้อเท็จจริง
นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ และเลขาธิการสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวในงานเสวนา "เปิดงานวิจัย สำรวจองค์ความรู้ข้อมูลลวง ด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดของไวรัสข่าวสารกับผลกระทบต่อสุขภาวะสังคมไทย" ถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนาเครื่องมือวัดการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) ของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อพัฒนา Media literacy Index ให้เหมาะสมกับสังคมไทย โดยล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมสำรวจประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนไทยเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อให้ภาครัฐมีแนวทางในการสื่อสารกับประชาชน และนาไปสู่การประเมินการรู้เท่าทันสื่อในเรื่องของโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง และปรับใช้กับข้อมูลด้านสุขภาพ อื่นๆ ในอนาคต
จากการสำรวจองค์ความรู้ด้านข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลผิดพลาด กรณีศึกษาด้านสุขภาพของไทย โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยอิสระ พบว่า คนไทยมีแนวโน้มนิยมแชร์ข้อมูลสุขภาพกับชุมชนออนไลน์ และจากเพื่อน ทั้งนี้ ข้อมูลสุขภาพที่แชร์ในโซเชียลมักตัดทอนเนื้อหาและปรับให้ง่ายต่อการอ่าน ทว่ามีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ป่วย โซเชียลมีเดียจึงทำให้เกิดห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) เกิดความคิด ความเชื่อ เพิ่มความเสี่ยงในการได้รับข้อมูลบิดเบือน ผิดพลาดด้านข้อมูลสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ จากกรณีศึกษาด้านข้อมูลโควิด-19 ระหว่าง 22 มกราคม – กลางเดือนเมษายน 2563 พบว่า มีการพูดถึงเกี่ยวกับโควิด-19 สูงถึงหลัก สองแสนข้อความหลังจากแมททิว ดีน ประกาศติดโควิด-19 โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก จากการศึกษาผ่าน Zocial Eye พบว่าข่าวที่สร้างผลกระทบสูง คือ ข่าวเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ การรักษา ถัดมา คือ จุดกำเนิดของเชื้อและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ
ขณะที่กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ เพจ SSBN- Thailand ออกมาให้ข้อมูลข่าวลวงว่าประธานาธิบดี สี่จี้ผิง สั่งใช้กฏหมายสูงสุดโทษจำคุกตลอดชีวิตและวิสามัญฆาตรกรรม ซึ่งเป็นข่าวปลอม มีการแชร์ไปกว่า 5 หมื่นครั้ง จากการสืบค้นในเพจอื่นๆ ที่นำข่าวไปโพสต์ต่อ พบว่ามีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเนื้อหาและมีไม่กี่ความเห็นที่เตือนว่าเป็นข่าวลวง ขณะที่ข่าวลวงที่ว่า ไวรัสพัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 สร้างความตื่นตระหนกและพบสื่อหลักบางแห่งนำไปแชร์ต่อ แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการลบข่าวลวงออกไป แต่สื่อกระแสหลักก็ยังไม่มีการลบโพสสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาข่าวปลอมและการทำงานด้านข่าวที่มีคุณภาพแย่ คือ การไม่ตรวจสอบข่าวก่อนแชร์
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเนื้อหาที่มีการบิดเบือน การนำคลิปมาตัดต่อ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดหรือการใช้คลิกเบตพาดหัวเรียกแขก โฆษณา การนำเสนอข่าวคุณภาพแย่ โดยช่องทางเฟซบุ๊กพบว่า ข่าวลวง มาจากสื่อขนาดกลางหรืออินฟลูเอนเซอร์ ส่วนทวิตเตอร์มาจากคนธรรมดา อินสตาแกรม ได้แก่ ดาราหรือเพจที่มีแรงจูงใจทางการเงิน รับจ้างผลิตโฆษณาแฝง บิดเบือนข้อมูลเพื่อเพิ่มยอดการรับชม
จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้รับสาร 3 กลุ่ม เกี่ยวกับการเชื่อและการแชร์ พบว่ากลุ่มอายุ 15 – 24 ปี ใช้เฟซบุ๊คเป็นหลักมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากเพื่อน คนรอบตัว ซึ่งการจะแชร์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัว บางคนแชร์เพื่อเอาไว้อ่านเอง กลุ่มอายุ 25 – 50 ปี ใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเชื่อสื่ออาชีพ แต่จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยค้นหาผ่าน Google ขณะที่บางคนซึ่งใช้ทวิตเตอร์มองว่าทวิตเตอร์มีความน่าเชื่อถือกว่าสื่ออาชีพ โดยจะแชร์มิติทางสังคม เรื่องบริจาค หรือแชร์ปั่นกระแส ในทวิตเตอร์
ด้านกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ใช้ไลน์เป็นหลัก ใช้วิจารณญาณและประสบการณ์ในการตัดสินใจ ความน่าเชื่อถือ แม้จะไม่เชื่อทั้งหมดแต่ก็ไม่รู้วิธีการตรวจสอบ ดังนั้น จึงมักแชร์เมื่อคิดว่ามีประโยชน์กับเพื่อน เช่น แจกโดนัทฟรี ฯลฯ แต่แชร์และเชื่อน้อยลงเพราะได้รับรู้เรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณะกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ให้ความเห็นด้านวิชาการว่า การวิจัยดังกล่าวถือเป็นโจทย์ท้าทายของสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาทางออกอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งข้อเท็จจริงและโปร่งใส มีการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องร่วมกันทำให้สังคมไทย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เท่าเทียม เป็นธรรมด้านข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะด้านสุขภาพ
ด้าน ชิตพงษ์ กิตตินราดูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันเซนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิบูรณะชนบทฯ ตัวแทนภาคประชาสังคม กล่าวเสริมว่า จากการศึกษามีข้อค้นพบว่า เมื่อประชาชนทั่วไปพบเจอข่าวลวง หากข่าวไหนมีการแชร์มากจะไม่ค่อยมีคนกล้าแก้ข่าวแม้จะได้รับข่าวจริงใหม่ก็ตาม ขณะที่ข่าวลวงที่ระบาดน้อยในวงจำกัด คนทั่วไปมีแนวโน้มพร้อมที่จะเป็นผู้แก้ข่าว สถานการณ์นี้บอกว่าพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนทั่วไปไม่แน่นอน จะคาดหวังให้ผู้ที่ใช้แก้ข่าวอาจจะเป็นไปได้ไม่มาก ในทางนโยบายไม่ควรปล่อยให้การแก้ข่าวลวงเป็นไปตามยถากรรมของประชาชนทั่วไปน่าจะมีคนที่มีบทบาทในการช่วยเหลือแก้ไขข่าวลวงได้
ขณะเดียวกัน การที่จะหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงต้องอาศัย Super-corrector (การแก้ข่าวลวงที่มาจากแหล่งน่าเชื่อถือหรือมี Engagement จำนวนมาก) ซึ่งเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามและต้องแก้ข่าวเร็วที่สุด ในเวลาพร้อมกันการระบาดก็จะมีแนวโน้มหยุดได้ในช่วงเวลานั้น คล้ายโรคระบาด อาจมีการระบาดซ้ำช่วงที่ 2 สิ่งที่ดีที่สุด ในตอนนี้คือ ใช้ Super-corrector ช่วยกันทำงาน