รู้ทัน! “โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง” พบได้บ่อยในผู้ที่เดินเท้าเปล่า

ที่มา : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์

ปกเว็บโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง

                    สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตือนประชาชนเกี่ยวกับโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่เดินเท้าเปล่า หรือเด็กที่นั่งเล่นบนพื้นดินที่ชื้นแฉะปนเปื้อนมูลสัตว์ แนะนำประชาชนควรสวมรองเท้าในขณะ ออกจากบ้านเสมอ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือสัมผัสบนดินทรายที่อาจปนเปื้อนมูลสัตว์ ซึ่งจะทำให้พยาธิสามารถชอนไช เข้าสู่ผิวหนังได้

                    อาการของผู้ที่ถูกพยาธิชอนไชผิวหนัง คือ อาการบวมแดง อักเสบและปวด พบผื่นบริเวณมือ เท้าหรือก้นที่สัมผัสกับดินทรายโดยตรง เห็นเป็นเส้นนูน แดง หรือตุ่มน้ำใส ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรและอาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร คดเคี้ยวไปมา ตามการไชของพยาธิ ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร ถึงหลายเซนติเมตร มีอาการคันมาก อาการทางผิวหนังมักจะเกิดใน 1-5 วันหลังสัมผัส และคงอยู่ได้นาน 2-14 สัปดาห์หรือนานเป็นปี อาการอื่นๆ ที่อาจพบในผู้ป่วยบางราย เช่น อาการทางปอด อาจรู้สึกแสบร้อนที่หน้าอก และอาจมี เสียงหวีดและไอ

                    แพทย์หญิงอรยา กว้างสุขสถิตย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การรักษาโรคนั้นจะใช้ยาฆ่าพยาธิชนิด Albendazole 400 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 3 วัน หรือ Ivermectin รับประทานครั้งเดียว เป็นการรักษาที่ได้ผลดี เนื่องจากในประเทศไทยพบอัตราการเป็นโรคพยาธิปากขอสูงในแมวและสุนัขจึงมีโอกาสที่พยาธิปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมาก ในส่วนของการป้องกันที่ดีที่สุด คือ

  1. สวมรองเท้าทุกครั้ง หรือ ไม่เดินเท้าเปล่าในขณะออกจากบ้าน
  2. หลีกเลี่ยงการนั่งหรือสัมผัสดิน ทราย ที่ปนเปื้อนมูลสัตว์
  3. ถ่ายพยาธิในแมวและสุนัข เพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน
Shares:
QR Code :
QR Code