รัฐโวคลอดองค์กรป้อง ปชช.
ร่าง กม. คาดปี 53 บังคับใช้จริง
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. หน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน ได้จัดงาน “คนไทยได้อะไรจากองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า เรื่องการผลักดันองค์กรอิสระนี้ เป็นนโยบายรัฐบาล และได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จ
ขณะนี้ร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะให้มีการจัดประชุมปฏิบัติการ เชิญตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชน วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือให้ได้ข้อสรุป จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งคาดว่าไม่เกินครึ่งปี 2553 กฎหมายจะสามารถออกมาบังคับใช้ได้
นายสาทิตย์ กล่าวต่อถึง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่ให้ผู้บริโภคสามารถไปฟ้องร้องคดีได้เอง แต่กลับกลายเป็นผู้ประกอบการมาฟ้องผู้บริโภคนั้น ตนได้ให้ สคบ. รวบรวมสถิติแล้วดำเนินการเพื่อไปดูในรายละเอียด พิจารณาว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร
นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคนที่สอง ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มั่นใจว่าองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค จะเกิดขึ้นจริงในรัฐบาลนี้ เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่องค์กรดังกล่าวต้องปราศจากการครอบงำจากหน่วยงานของรัฐ แต่รัฐจัดสรรงบสนับสนุนเพียงพอ ในอัตราเหมาจ่ายอย่างน้อย 5 บาทต่อหัวประชากร หรือประมาณ 300 ล้านบาท
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เสนอจัดตั้งนั้น จะมี 3 หน้าที่หลักในการดำเนินงาน คือ
1. เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ โดยผู้บริโภคสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ที่นี่ จากเดิมที่ต้องเดินทางไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. เป็นปากเสียงให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นประโยชน์สาธารณะ
3. ทำงานเชิงรุก เข้าไปดูปัญหาต่างๆ โดยไม่ต้องมีการร้องเรียน
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีการแก้ไขจากร่างกฎหมายภาคประชาชนนั้น เห็นว่าเป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ขององค์กร ทำให้ไม่สามารถเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 13-03-52