มองใหม่ ให้เป็นสุข
การทำงานเป็น "สิทธิพิเศษ" แทนที่จะเป็นหน้าที่
อคติต่อการทำงาน
อคตินี้เกิดเมื่อไร : งานวิจัยแสดงว่าเด็กอายุ 12 ปีสามารถแยกความแตกต่างระหว่างการทำงานและการเล่นได้อย่างชัดเจน และความสามารถนี้ก็ติดตัวเราไปตลอดชีวิต เด็ก ๆ เข้าใจชัดเจนว่า การศึกษาเป็นเรื่องการเรียนหนังสือที่โรงเรียน การทำการบ้าน และการทำงานหนัก ทำให้เด็กไม่สนุกกับการศึกษา
ย้อนรอยอคติ : สังคมมักมีอคติกับการทำงาน ซึ่งฝังรากลึกในหัวของชาวตะวันตก นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าอคตินี้สามารถสืบย้อนกลับไปยังข้อความในไบเบิล โดยอดัมกับอีฟเป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตที่มีแต่ความรื่นรมย์ พวกเขาไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องวางแผนเพื่ออนาคต แต่เมื่อกินผลไม้ต้องห้ามเข้าไป พวกเขาก็ถูกเนรเทศจากสวนอีเดน พวกเขาและลูกหลานถูกพิพากษาให้ทำงานหนัก แนวคิดที่ว่าการทำงานเป็นการลงโทษจึงฝังรากลึกในวัฒนธรรมตะวันตกเสียมาก เรามักวาดภาพสวรรค์ว่าเป็นดินแดนที่ไร้ความลำบากทั้งปวง รวมทั้งไร้การทำงานด้วย
เปลี่ยนมุมมอง เป็นเรื่องที่ทำได้
นักวิจัยทำการทดลองกับนักเรียนอายุ 6 – 15 ปี พวกเขาได้รับแจ้งว่า พวกเขาไม่ต้องทำการบ้านหรืองานใด ๆ ที่โรงเรียนอีกต่อไป กติกามีอยู่ว่า ถ้าพวกเขาประพฤติตัวไม่ดีในชั้นเรียน พวกเขาจะถูกลงโทษให้ออกไปเล่นข้างนอก แต่ถ้าพวกเขาประพฤติตัวดี พวกเขาจะได้รับรางวัลเป็นการทำงานมากขึ้น
นักวิจัยพบว่าภายในวันสองวัน พวกเขากลับชอบทำงานมากกว่าไม่มีอะไรทำ และมักเรียนวิชาเลขและวิชาอื่น ๆ ได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เราเรียนรู้ที่จะสร้างกรอบความคิดขึ้นมาใหม่ว่า การทำงานและการศึกษาของเราเป็นสิทธิพิเศษแทนที่จะเป็นหน้าที่ และปลูกฝังกรอบความคิดเดียวกันนี้ให้กับลูก ๆ ของเราด้วย ไม่เพียงเราจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่เราจะเรียนรู้และทำผลงานได้ดีเยี่ยมขึ้นอีกด้วย
เมื่อเรามีมุมมองที่ค่อนข้างคับแคบเกี่ยวกับความสุข กล่าวคือเรามองไม่เห็นว่า ความพยายามและการต่อสู้ดิ้นรนสามารถเป็นแหล่งกำเนิดของความสุขได้ นั่นเท่ากับว่าเรากำลังมองข้ามโอกาสดี ๆ ที่จะได้มีชีวิตที่สมปรารถนาไป
เมื่ออยู่ที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน เรามองไม่เห็นโอกาสที่จะเพิ่มพูนความสุข เมื่อกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงาน เราก็ใช้เวลาว่างของตัวเองไปโดยเปล่าประโยชน์ ปราศจากความพยายาม ความท้าทาย และความหมายใด ๆ สุดท้ายเราจึงจมกับความรู้สึกว่า ความสุขช่างเป็นสิ่งที่จับต้องยากเหลือเกิน
เรียบเรียงจาก เปิดห้องเรียนวิชาความสุข (แปลไทย) สนพ. "We Learn" ขยายมุมมองเกี่ยวกับความสุขให้กว้างขึ้น รู้จัก 8 เส้นทางความสุข ที่ www.happinessisthailand.com
ที่มา: ความสุขประเทศไทย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต