ภัยน้ำท่วม!! เพิ่มความเครียด-โรคทางสุขภาพ ผู้สูงอายุเสี่ยงซึมเศร้า แนะวิธีรับมือ
ที่มา: กรมการแพทย์
น้ำท่วม หรือ “อุทกภัย” หนึ่งในภัยพิบัติใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายมากมายแก่ทรัพย์สิน ร่างกาย และจิตใจของประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ รวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบสุขภาพทางกาย ได้แก่ 1) การติดเชื้อและโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม เช่น ติดเชื้อจากน้ำที่ไม่สะอาดทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และโรคน้ำกัดเท้า เป็นต้น 2) ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และการบาดเจ็บ ที่เกิดจากการถูกน้ำพลัด หรือลื่นล้มจากพื้นที่เปียก 3) การขาดยาและการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง นอกจากการที่ยาสูญหายไปกับน้ำ ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลเนื่องด้วยเส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด 4) ภาวะขาดสารอาหารและขาดน้ำจากการที่การเข้าถึงอาหารถูกจำกัด นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย ความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความสะเทือนใจหรือสะเทือนขวัญและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพใจทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับข่าวสาร เช่น ความเครียดที่เกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-traumatic stress disorder; PTSD) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ที่ติดตามข่าวอุทกภัยที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย สะดุ้งตกใจง่าย รวมไปถึงภาวะซึมเศร้าและอาจรุนแรงจนทำให้เกิดการทำร้ายตนเอง
ในผู้สูงอายุได้
แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ผู้สูงอายุมักต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องด้วยร่างกายที่อ่อนแอกว่า อีกทั้งอาจมีภาวะจิตใจที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ทางสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุมีความห่วงใย จึงมีวิธีการรับมือกับเหตุการณ์นี้มาแนะนำ ดังนี้ 1) ย้ายไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยโดยเร็วเท่าที่สามารถทำได้ 2) ผู้ที่สามารถติดต่อหน่วยงานช่วยเหลือได้ให้ติดต่อแจ้ง 3) กรณีที่น้ำยังไม่ท่วมเข้ามาในบ้าน ให้ย้ายทรัพย์สินมีค่าไว้ที่บ้านชั้นบนที่พ้นระดับน้ำ และเก็บยารักษาโรคไว้ที่ตัว ที่ใช้หรือกินได้จำนวนประมาณ 1 สัปดาห์ 4) ดื่มน้ำและรับประทานอาหารสุกสะอาด 5) พูดคุยกับเพื่อน ญาติหรือครอบครัว พยายามไม่เก็บความรู้สึกหรือความไม่สบายใจไว้เพียงลำพังคนเดียว 6) หาวิธีผ่อนคลายความรู้สึก อาจใช้วิธีหายใจเข้าออกลึก ๆ หรือออกกำลังกาย และในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับข่าวสารด้านอุทกภัยแนะนำดังนี้ 1) ดูข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์เท่าที่จำเป็นไม่ดูเหตุการณ์สะเทือนใจซ้ำ ๆ 2) พยายามทำกิจวัตรปะจำวันตามปกติ 3) บอกตนเองว่า เป็นเรื่องปกติที่มีความรู้สึกแย่ก็เหมือนชีวิตคนเราที่มีทั้งวันดี ๆ และวันแย่ ๆ 4) หากยังจัดการความรู้สึกหดหู่ หรือกังวลไม่ได้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้าน