พลังเยาวชน…พลังแห่งการให้

สำนึกอันดีที่พร้อมจะเบ่งบานในสังคมไทย

 

พลังเยาวชน…พลังแห่งการให้

            ผ่านไปแล้วกับงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1ร่วมสร้างประเทศไทยด้วยการให้ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 911 ต.ค. 2552 ซึ่งภายในงานมีการระดมความคิดสร้างสรรค์และการแสดงอันหลากหลายที่เป็นฝีมือของเยาวชนไทย อีกทั้งยังมีการจัดวงเสวนาเพื่อแลกเปรียบความคิดกันอย่างเปิดเผย…. แม้ว่ากิจกรรมจะจบลงไปแล้ว แต่ในหัวใจของ เด็ก-เยาวชนและคนที่เข้าร่วมงานมีบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่า สำนึกของการให้’” กำลังเบ่งบานและพร้อมจะเติบโตเพื่อสร้างประเทศไทยให้เข็มแข็งต่อไปในอนาคตแล้ว

 

            หลายเสียงเล็กๆ ของเยาวชนได้สะท้อนแนวคิดของสำนึกแห่งการให้ได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับนายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร ให้ข้อคิดเห็นจนผู้ใหญ่หลายๆ ต้องหันกลับมาฟังว่า ในฐานะที่เป็นเยาวชนไทยคนหนึ่งจะขอทุมเทแรงกายแรงใจรวมถึงจะใช้เวลาว่างที่มีทั้งหมดศึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ที่สำคัญจะลงแรงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยยึดหลักตามแนวทางพระราชดำรัสของในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ตรัสไว้ว่า เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา นั่นเอง

 

            หากทำตามแนวคิดนี้เชื่อได้เลยว่าคนไทยจะเข้าใจปัญหาในประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง ช่องว่างระหว่างสิ่งที่สามารถลงมือทำได้จริงกับการใช้จินตนาการในการแก้ไขปัญหาจะลดลง ซึ่งการให้เวลาและทุ่มเทศึกษาปัญหาต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ไม่ควรคาดหวังกับคนอื่น แต่ควรคาดหวังกับตัวเองให้มากๆ แล้วลงมือทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง การกระทำของเราจะเป็นคำพูดที่ดังที่สุดที่ให้คนอื่นฟัง เมื่อคนรอบข้างได้เห็นการกระทำดีๆ ที่เกิดขึ้น คนอื่นๆ ในสังคมก็อยากทำความดีตาม เหมือนกับว่าใช้ตัวเราเองเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนสนใจ เชื่อและอยากทำดี ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพฯ บอกด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง

 

            ด้าน ด.ช.หม่อง ทองดี เด็กไร้สัญชาติที่หัวใจเต็มไปด้วยความเป็นไทย กล่าวด้วยแววตาภาคภูมิใจหลังจากเดินทางมาแสดงพลังเยาวชนด้วยการสอนเด็กๆ คนอื่นๆ พับเครื่องบินกระดาษภายในงานว่า การให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่กันอย่างสงบสุข ถึงแม้ตนเองจะไม่ใช่เด็กที่มีสัญชาติไทยเต็มตัวแต่ตนเองก็อยากที่จะให้สิ่งดีๆ กับประเทศไทย อย่างการทำชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภททีม และได้ที่ 3 แข่งประเภทบุคคลด้วยการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับนานาชาติ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยการแข่งขันในครั้งนี้ถือว่าได้ใช้ความสามารถที่มีตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ได้อาศัยอยู่แล้ว

 

            แม้จะเป็นการเผยความรู้สึกเพียงไม่กี่ประโยค แต่ถ้อยคำที่เอ่ยออกมาก็ได้แสดงให้ทุกคนเห็นถึงสำนึกแห่งการให้ได้เป็นอย่างดี

 

            ส่วน ผักกาด โพธิ์ศรี หญิงพิการทางร่างกายแต่จิตใจไม่ได้ขาดพร่องเรื่องการให้แม้แต่น้อย ผักกาด บอกว่า ถึงแม้อายุจะมากแล้ว แต่การเป็นคนพิการก็เปรียบเหมือนได้เป็นเยาวชนอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะขยับได้เพียงแค่ข้อมือและศีรษะ แต่ ผักกาด ก็พร้อมที่จะให้รอยยิ้มแก่ทุกคนที่พบเห็นเธอ เพราะเธอเชื่อว่ารอยยิ้มเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถให้แก่สังคมและประเทศชาติได้ เพราะในขณะนี้สังคมเต็มไปด้วยคนแปลกหน้า ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนก็เป็นเหมือนพี่เป็นน้องกันที่สำคัญทุกคนเกิดในประเทศเดียวกัน คือ ประเทศไทยหากทุกคนยิ้มให้กันด้วยความจริงใจ จากคนแปลกหน้าจะกลายเป็นคนคุ้นเคยกันทันที เมื่อ 1 คนทำ คนที่ 2 3 และ 4 ก็จะทำสุดท้ายแล้ว สังคมก็จะเต็มไปด้วยความเอื้ออาทรและประเทศไทยก็จะน่าอยู่มากขึ้น

 

             รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ เยาวชนจากกลุ่มละครเครือข่ายหน้ากากเปลือยก็เป็นอีกคนที่มอง การให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการให้ผ่านสิ่งที่ถนัดที่สุดนั่นคือ การแสดงเพราะวิถีของละครไม่ได้ให้แค่เรื่องของบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือส่งผ่านความรู้สึกไปถึงผู้รับได้อย่างน่าทึ่ง ที่สำคัญสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ได้ง่าย เพียงแต่ไม่ว่าจะแสดงอะไรออกไปผู้แสดงต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช้การแสดงเพื่อทำลายสิ่งดีงานที่มีอยู่ก็พอ

 

            สำหรับ ชัยยงค์ สมประสงค์  นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนถาวรานุกูล หนึ่งในเยาวชนที่เดินทางมาร่วมงานพร้อมกับอนุรักษ์ความเป็นไทยด้วยการใส่โจงกระเบนแบบโบราณ กล่าวอย่างภาคภูมิใจหลังจากการแสดงโชว์หุ่นกระบอกเมืองสมุทรสงคราม ว่า การให้สามารถแสดงออกได้ด้วยการกระทำ ซึ่งการให้ที่ตนสามารถทำได้ก็คือ การอนุรักษ์สืบทอดและรักษาการแสดงหุ่นกระบอกไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บและดำรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยไว้ 

 

             เพื่อให้สิ่งที่มีคุณค่าสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป การอนุรักษ์มรดกของท้องถิ่นของตนเอาไว้ก็เท่ากับว่าอนุรักษ์มรดกของชาติด้วย ทำให้ประเทศคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ เราคนไทยจึงควรจะตระหนักถึงคุณค่าและให้ความสำคัญกับทุกวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นของบรรพบุรุษ ชัยยงค์กล่าวและว่าอยากให้มีการจัดงานแบบนี้ขึ้นอีก เพราะถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เยาวชนจะได้แสดงพลังและความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างเต็มที่

 

            หลากสำนึกอันดีแห่งการให้จากเยาวชน ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า หลังจากนี้เมล็ดพันธุ์แห่งการให้จะถูกส่งต่อและเจริญเติบโตลงไปในหัวใจของใครหลายๆ คน  ซึ่งหากสำนึกแห่งการให้ถูกส่งต่อไปยังทุกคนในสังคมไทย เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศชาติจะถูกขับเคลื่อนด้วยความสุขและความเข้าใจอย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

 

 

update: 20-10-09

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code