‘ธนาคารน้ำ’ จ.พัทลุง ผลลัพธ์ความปรองดองของคนกับป่า
“ทุกวิกฤติที่เกิดล้วนเป็นจุดเริ่มต้นแห่งโอกาส” คำกล่าวนี้ น่าจะใช้ได้ดีที่สุด สำหรับช่วงหลังสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ บทเรียนราคาแสนแพงจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ สอนคนไทยให้ยอมรับว่า เมื่อมนุษย์ย่ำยีธรรมชาติไม่หันหน้าเข้าหาธรรมชาติเพื่อพึ่งพิงกันและกัน เหมือนในอดีต…
หนักเข้าก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความโกรธเกรี้ยวของธรรมชาติ จบลงที่ธรรมชาติลงโทษคนไทยอย่างไม่ปราณีอย่างที่ทุกคนได้เห็น แม้วันนี้อาจะประเมินว่า สถานการณ์เข้าสู่ภาวะคลี่คลาย แต่ก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า เหตุร้ายๆ ที่เพิ่งผ่านจะย้อนกลับมาเกิดซ้ำเติมคนไทยรอบสองอีกเมื่อไร หนทางรอดเดียวในอนาคตที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้ คือต้องถอดบทเรียนแล้วพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
แนวทางที่ต้องผ่านทางตันในภาวะนี้ได้ก็คือ “ปรองดอง” แต่เป็นการปรองดองกับธรรมชาติที่มีเป้าหมายเพื่อการลดความขัดแย้งและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย
ตัวอย่างความสำเร็จ ที่กลายเป็นโมเดลหลัก นำไปสู่การเผยแพร่ออกไปทั่วประเทศ เกิดขึ้นที่ เทศบาลตำบลเขาหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ในชื่อ “โครงการธนาคารน้ำ” แม้ฟังแล้วดูวิชาการ แต่มันคือกระบวนการที่นำคนกับป่า กลับมาจับมือปรองดองกันนั่นเอง ที่มาของโครงการธนาคารน้ำ เทศบาลตำบลเขาหัวช้าง ต.ตะโหมด มาจากจิตสำนึกของคนในชุมชน ที่พยายามอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาการบริหารจัดการน้ำ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2509-2513 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มให้บริษัทเอกชนเข้ามาสัมปทานไม้ในพื้นที่ของพวกเขา ส่งผลให้เกิดการบุกรุกป่าตามแนวสัมปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ความห่วงใยต่อผลกระทบที่เกิดนี้ ประกอบกับการเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับป่าต้นน้ำ นำมาสู่แนวคิดชะลอน้ำจากผืนป่า ด้วยการทำฝายแต่เรียกให้ดูเก๋ๆ ว่าธนาคารน้ำ อาศัยหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ด้วยการกั้นให้น้ำที่ไหลลงมา ลดความแรงของการไหลลง”
เมื่อฝนนำน้ำที่ตกลงมาจากฟ้าและน้ำได้ถูกชะลอกักเก็บไว้ด้วยฝาย ทันทีที่ฝนขาดช่วงลง สิ่งที่ได้ก็คือ ดอกเบี้ยจากธนาคารน้ำ หรือความชุ่มชื่นให้แก่ดินเพิ่มยาวนานไปอีกหลายเดือน ส่งผลดีต่อพืชพรรณ และเมื่อธรรมชาติได้ประโยชน์คนก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน นี่คือความหมายของคำว่าธนาคารน้ำ
ธนาคารน้ำแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ ธนาคารชั่วคราวสำหรับลำห้วยเล็กที่มีอายุการใช้งานแค่ฤดูการเดียว หรือไม่เกินปีทำจากไม้ไผ่สาน หิน และตาข่าย ธนาคารน้ำกึ่งถาวร ที่นำปูนซีเมนต์ตาข่าย หิน และทรายเข้ามาใช้ มีอายุการใช้งาน 1-3 ปี และสุดท้ายคือธนาคารน้ำแบบถาวร ที่สร้างจากปูนซีเมนต์และเหล็กโดยตรง อายุใช้งานมากกว่า 3 ปีขึ้นไป เป็นต้น
นายชูสินธุ์ ชนะสิทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเขาหัวช้าง เล่าว่า โครงการธนาคารน้ำปัจจุบันมีการก่อสร้างฝาย หรือธนาคารน้ำในเขตพื้นที่นี้ราวเกือบ 400 แห่ง นอกจากจะส่งผลดีต่อชุมชนทั้งสองแห่งที่มีประชากรมากกว่า 1 หมื่นคน ยังส่งผลไปถึงชุมชนในอีกหลายอำเภอ เนื่องจากน้ำจากป่าต้นน้ำไหลลงสู่คูคลอง และส่งไปถึงทะเลสาบสงขลา
ผลดีของธนาคารน้ำนั้น นอกจากจะทำให้ชุมชนสามารถทำนาได้ปีละ 2 หน เพราฝายทำให้น้ำถูกกักเก็บไว้แล้วไหลลงคูคลองได้มากขึ้น ข้อดีอีกส่วนทั้งชะละน้ำที่เคยไหลบ่าเข้าท่วมบางชุมชนได้ นอกจากนี้ธนาคารน้ำยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาร่วมศึกษาดูงาน ทั้งยังได้รับความร่วมมือทั้งจากองค์กรต่างๆ นักศึกษาที่เดินทางมาออกค่าย และร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำกันอย่างต่อเนื่อง
โครงการธนาคารน้ำ หรือฝายกั้นน้ำ คืออีกหนึ่งทางเลือกของแนวทางการปรองดองระหว่างคนกับป่าที่ทุกภาคส่วนทุกชุมชนสามารถลงมือทำได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนกลาง หรือคณะกรรมการชุดนั้นชุดนี้ให้เสียงบประมาณไปเปล่าประโยชน์ เพราะหนทางของความปรองดองกับธรรมชาติที่ยั่งยืนนั้นทำได้ง่ายกว่า ไม่ใช่ด้วยวาทกรรมอันสวยหรู แต่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนไทยทุกคน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก