ชายเสี่ยง ‘มะเร็งตับ’ มากกว่าหญิง
อธิบดีกรมการแพทย์ เผยเพศชายเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่าเพศหญิง ชี้อาการเริ่มต้น เบื่ออาหารไม่มีสาเหตุ ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ไข้ต่ำ ปวดเสียดชายโครงขวา
แฟ้มภาพ
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ประมาณ 20,000 ราย ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิง อัตราการเสียชีวิตประมาณ 15,000 รายต่อปี โรคมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ โรคมะเร็งของเซลล์ตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
สาเหตุของโรคมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์ตับของคนไทย ส่วนโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับเกิดจากพยาธิใบไม้ตับ เป็นสาเหตุสำคัญร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนมไส้กรอก เบคอน ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การเคี้ยวหมาก สารพิษอะฟลาทอกซิน ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้อีกด้วย
อาการของโรคมะเร็งตับเริ่มด้วยการเบื่ออาหารโดยไม่มีสาเหตุ แน่นท้อง ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำเป็นประจำ ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งตับ ได้แก่ การให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ป้องกันรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รับประทานผักผลไม้สดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่มีราขึ้น อาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ อาหารหมักดอง เค็มจัด เผ็ดจัด เนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม ไม่รับประทานปลาดิบๆ สุกๆ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เคี้ยวหมาก และลดความเครียด รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับได้
"หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้"อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า