ความเป็นมาโครงการการพัฒนาทักษะสร้างเสริมสุขภาพฯ
ความเป็นมาโครงการการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 กำหนดอำนาจหน้าที่ของ อบต.ไว้ในมาตรา 67,68 และ 73 ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรจะทำและทำงานร่วมกับองค์กรอื่น สอดคล้องกับ พ.ร.บ.กำหนดแผนและกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ.2542มาตรา 16 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ อบต.จัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ตามข้อตกลง The Ottawa Charter for Health Promotion ในปี ค.ศ.1986 ที่ให้ความตระหนักถึงความสำคัญของมิติทางสังคมที่เกี่ยวกับสุขภาพ งานตามภารกิจของ อบต.เข้าข่ายงานสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าครึ่งของภารกิจทั้งหมด
อีกทั้งจากการศึกษาภารกิจ อบต.และความเข้มแข็งของประชาคมตำบลในการจัดการปัญหาสุขภาพชุมชนระดับตำบลของ ดร.โกวิท พวงงาม (2544) พบว่า อบต.จัดสรรรายจ่ายในหมวดสุขภาพน้อยมาก 12.76% และ 13.72% ของรายจ่ายเพื่อการพัฒนาทั้งหมดของ อบต.ในปี 2541 และ 2542 ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่เป็นสาเหตุให้ อบต.ดำเนินภารกิจด้านสุขภาพไม่มากเท่าที่ควร ประกอบด้วย 3สาเหตุสำคัญ คือ 1.ด้านประชาชนที่ยังไม่เห็นความสำคัญที่เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ 2.ด้านการบริหารจัดการที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ อบต.ยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และการบริหารจัดการงานสร้างเสริมสุขภาพ 3.ด้านบุคลากรทางด้านงานสุขภาพมีจำนวนน้อยและขาดนักวิชาการภายนอกมาเผยแพร่ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาทีมสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ อปท.เพื่อให้ทีมสร้างเสริมสุขภาพนั้นสามารถขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย อบต.ขนาดเล็กและขนาดกลาง และไม่ใช่ อบต.ต้นแบบที่เป็นรู้จักกันโดยทั่วไป
รูปแบบการพัฒนาทักษะฯ มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยระหว่างทางมีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษา เน้นการทดลองปฏิบัติจริงมากกว่าฟังบรรยาย
ที่มา : สำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)