ก.พ.ร.เปิดเว็บรับฟังปฏิรูปประเทศ

ระดมสมองเปลี่ยนระบบราชการ

 ก.พ.ร.เปิดเว็บรับฟังปฏิรูปประเทศ

         ก.พ.ร. ยกเครื่องระบบราชการ เปิดโครงการ เปิดใจ ปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป การบริหารประเทศไทยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

 

         วันที่ 8 กันยายน 2553 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดตัวโครงการ เปิดใจ ปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป การบริหารประเทศไทยและเปิดเว็บไซต์ www.ideas4reform.com เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังปัญหาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงาน ภาครัฐ จากทุกส่วน ของสังคม ทั้งประชาชนทั่วไป ข้าราชการ และบุคลากรภาครัฐ รวมไปถึงภาคเอกชน และหน่วยงานองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบราชการให้ตอบสนองกับความต้องการของประชาชน และทุก ๆ ส่วนของสังคมในระยะต่อไป

        

         โดยมี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมกับ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะเป็นภาคีหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อความเป็นมาและทิศทางของโครงการ รวมถึงมุมมองต่อระบบราชการในภาพรวม

        

         ดร.ทศพร กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากบทบาทของ ก.พ.ร. อันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ ในการศึกษาปัญหาภายในระบบราชการ และนำเสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบราชการให้กับรัฐบาล แต่จากผลการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนระบบราชการในช่วงที่ผ่านมา ทาง ก.พ.ร. พบว่า การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งนี้ เป็นเพราะการปรับเปลี่ยนระบบราชการที่ผ่านมาเกิดจากมุมมองของภาคราชการเพียงด้านเดียว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม ทำให้สังคมเกิดมุมมองที่แตกต่าง และเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ราชการดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การมีสองมาตรฐานในสังคม รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งกลายเป็นชนวนไปสู่ความแตกแยก และความขัดแย้งอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

        

         ก.พ.ร. จึงได้เปิดโครงการ เปิดใจ  ปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป การบริหารประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังปัญหา และระดมความคิดเห็นจากทุก ๆ ส่วนของสังคม ทั้งในระดับประชาชนทั่วไป ชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน ข้าราชการระดับต่าง ๆ บุคลากรภาครัฐ รวมไปถึงหน่วยงาน องค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ มาวิเคราะห์สภาพปัญหาของการบริหารงานภาครัฐทั้งระบบ และจะนำไปสู่การออกแบบระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคมต่อไป โดย ก.พ.ร ดำเนินโครงการดังกล่าว ภายใต้แผนงานสร้างเสริมภาคีการพัฒนารัฐ – สังคมเพื่อสุขภาวะประเทศไทย ร่วมกับ สสส.  ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในแผนหลักของ สสส. ด้านการสนับสนุนการขับเคลื่อนร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ 

        

         ทั้งนี้ จะมีการเปิดช่องทางแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.ideas4reform.com  ที่ผ่านมา ก.พ.ร. ยังได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคม และให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน โดยจัดเสวนาวิเคราะห์สภาพปัญหาของระบบราชการที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม พบว่า ในเบื้องต้นปัญหาระบบราชการที่จะต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนมี 8 ประเด็นคือ 1. ระบบอำนาจนิยม 2. การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและการเมือง 3. ระบบงานภาครัฐขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน 4. การจัดสรรงบประมาณและบุคลากรไม่เหมาะสม 5. การกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปในระดับต่าง ๆ ไม่เหมาะสม หรือผิดทาง 6. การส่งมอบบริการให้ประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ 7. พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการ 8. ประสิทธิภาพการดำเนินงานของข้าราชการ

 

         ดร. ทศพร กล่าวว่า ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่นำเสนอมานั้น เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุป ดังนั้น จึงต้องการความคิดเห็นจากทุก ๆ ส่วนของสังคม เพื่อนำไปประมวล วิเคราะห์ และหาแนวทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไป  การปรับ เปลี่ยน ระบบราชการถือเป็นบทบาทที่สำคัญ และต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจนิยม ซึ่งต้องพยายามลดบทบาทภาครัฐ โดยโอนถ่ายภารกิจให้เอกชน เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ยังเป็นระบบปิด ซึ่งมีแนวคิดที่ควรจะให้มีการจัดสรรงบประมาณเป็นแบบมีส่วนร่วม เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ต้องการความร่วมมือและให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และเรื่องปัญหาการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

         

         อย่างไรก็ตามทาง ก.พ.ร. เชื่อว่าโครงการฯ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญ อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบราชการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของทุกส่วนในสังคม เกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางการปรับระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และเกิดความสมดุลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป

 

         ทั้งนี้ ทาง ก.พ.ร. ยังได้รวบรวมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในระบบราชการ และแนวทางที่ใช้การปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ อย่างเช่น 1. ประเด็นในเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งมีข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิว่า ควรจะเริ่มจากการกำหนดและจำแนกงานที่ฝ่ายการเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง จากนั้นที่เหลือเป็นงานเชิงนโยบายของฝ่ายการเมือง รวมถึงกำหนดว่าจะเริ่มจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งก่อน 2. ประเด็นในเรื่องกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น มีข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิว่า กลไกการป้องกันทุจริต ปปช. ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และรวดเร็ว และเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งกลไกที่จะช่วยกำกับฝ่ายการเมืองและราชการได้ คือ การสร้างกลไกทางสังคม และ 3. ข้อเสนอเรื่องข้อมูล และการบูรณาการ มีข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิว่า การบริหารข้อมูลของหน่วยงานราชการ ควรจะต้องมีศูนย์รวม และมีกลไกกระจายความรับผิดชอบ ที่สำคัญต้องมีกลไกกลางตรวจสอบความเที่ยงตรงของข้อมูลที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดอยู่ตลอด

 

         ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ระบบราชการเป็นกลไกสำคัญ ทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี เพราะมีส่วนร่วมในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายระดับประเทศ ซึ่ง สสส. มีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ที่จะเป็นแนวร่วมในการพัฒนาระบบราชการไทย จากผลสำรวจ การจัดอันดับระบบบริหารราชการของประเทศในแถบอาเซียน ของบริษัทเพิค ที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ฮ่องกง พบว่า ระบบราชการของไทยมีประสิทธิภาพอยู่ในลำดับที่ 3 เป็นรองเพียงสิงคโปร์และฮ่องกง สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าสังคมไทยจะถูกรุมเร้าวิกฤตินานัปการ แต่ข้าราชการยังสามารถให้บริการประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เห็นว่า ภาคประชาชนมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของระบบราชการ ซึ่งเห็นว่างานในด้านบริการสังคมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เยาวชน มีความพร้อมมากที่สุด ซึ่งในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้เปิดโอกาสให้องค์กรอิสระเข้ามาทำงานเกี่ยวกับครอบครัว เยาวชนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้การบริการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันไม่ใช้งบประมาณมากเกินไปด้วย

 

         ทพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระบบราชการไทยมีข้าราชการและลูกจ้าง ราว 12 ล้านคน แต่ละปีมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีจบใหม่เฉลี่ย 3 แสนคน ในจำนวนนี้เกือบ 60% สนใจเข้าทำงานกับภาครัฐ โดยมองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก หากภาครัฐสามารถทำให้คนรุ่นใหม่ทำงานได้ตรงกับความสามารถ ศักยภาพที่มีอยู่ จะสร้างพลังการพัฒนาระบบราชการไทยได้มาก นอกจากนี้ การสร้างเสริมสุขภาพของข้าราชการ เป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรละเลย เพราะจากตัวเลขรายจ่ายทางด้านสุขภาพของบุคลากรในภาครัฐ พบว่า ในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพสูงถึง 61,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2553 จะมีค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 75,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและลูกจ้าง เฉลี่ย 10,000 บาท/คน  ดังนั้น หากหน่วยงานต่างๆ ไม่เร่งให้ความสำคัญในเรื่องนี้ การพัฒนาให้ระบบราชการไทยแข็งแรง ยั่งยืน ก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้

# # # #

         ร่วมแสดงความคิดเห็นวันนี้ เพื่อเปลี่ยน…… www.ideas4reform.com “เปิดใจ ปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป การบริหารประเทศไทย

 

         ระยะเวลาดำเนินโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. 53 เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ระยะที่ 2 ช่วงเดือน ก.ย. ธ.ค. นำเสนอความคิดเห็น ความรู้ และตัวอย่างที่ดี ในการปฏิรูประบบบริหาร และในระยะที่ 3 ช่วงเดือน ม.ค. พ.ค. 54 นำเสนอทางออกในการแก้ไข และปรับปรุง และในขั้นตอนสุดท้าย ช่วงเดือน พ.ค. 54 การออกแบบและจัดทำข้อเสนอในการปรับระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อนำเสนอไปยังแผนการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาลต่อไป โดย ก.พ.ร. จะนำความคิดเห็นที่ได้รวบรวมจัดทำเป็นกรณีศึกษาการบริหารกิจการบ้านเมือง ที่เกิดจากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน  

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

 

Update : 09-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code