‘ก้าว’ สู่ความสุข
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ผู้ให้สัมภาษณ์ : มงคล พาลีศักดิ์ และ พธูรัตน์ วรกุลอมรรัตน์
ภาพประกอบโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และจากผู้ให้สัมภาษณ์
เช้าตรู่ของวันเสาร์ หรือ อาทิตย์ ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จะเห็นบรรยากาศของการแข่งขันวิ่งจนเป็นที่ชินตาไปแล้ว เพราะภายในระยะเวลา 5 ปีทีผ่านมานี้ จากการเก็บข้อมูลของ สสส. พบว่า งานวิ่งเพิ่มขึ้นจากปีละ 200 งาน เป็น 900 งานต่อปี และข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จำนวนนักวิ่งเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจาก ปี 2549 ที่มีเพียง 5 ล้านคน กลายเป็น 15 ล้านคน ในปี 2560
แน่นอนว่า “การวิ่ง” ทำให้สุขภาพดี เพราะเมื่อหัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น ก็ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายแข็งแรงขึ้นตาม รวมไปถึงร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphins) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขอีกด้วย
ในทางกลับกัน “บาดเจ็บ” คือสิ่งที่นักวิ่งหลาย ๆ คนได้ลิ้มลองรสชาติความเจ็บปวดจากการวิ่งที่ตนรัก แม้นักวิ่งจะยืนยันว่า ความเจ็บปวดไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เขาและเธอหยุดวิ่งก็ตาม
คอลัมน์ทันกระแสสุขภาพจะพาไปพูดคุยกับ 2 นักวิ่ง ที่คนหนึ่งมีโรคประจำตัวอย่าง ‘โรคหัวใจ’ และอีกคนเป็น ‘Compartment synonyms’ หรือ กล้ามเนื้อตาย แต่ทั้งคู่ยังคงใช้ชีวิตด้วยพลังใจที่เข้มแข็ง อยู่ในวิถีการรับมือกับอาการที่ตนเองเป็น และยังคงวิ่งอย่างมีความสุข
มงคล พาลีศักดิ์ – มง ปัจจุบันยังคงออกกำลังกายด้วยการวิ่ง และเวทเทรนนิ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง หลังผ่านการรักษามา 2 ปี ก็เป็น Finisher รายการวิ่ง Ultra Trail Mt. Fuji (UTMF) ในระยะ 92 กม. และล่าสุดวิ่งจบรายการ Ultra Trail du Mont Blanc (UTMB) ในระยะ 50 กม. พร้อมตั้งเป้าหมายในการวิ่งอย่างมีความสุขต่อไป
อุบัติเหตุจากการวิ่ง กับชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล
เมื่อปลายปี 2559 ความตื่นเต้นและความดีใจกำลังทำงานอย่างเต็มที่ในขณะที่เขากำลังจะเข้าเส้นชัยในการวิ่งเทรลรายการหนึ่งของประเทศไทย ‘กระโดดเข้าเส้นชัย’ ด้วยความที่เจ้าตัวบอกว่าน่าจะตื่นเต้น ทำให้ลงผิดท่า (เหยียดขาตรง แล้วทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงที่เข่า) แต่กล้ามเนื้อใช้งานมาเยอะ ทำให้อาการ ‘เจ็บ’ รีบทักทายโดยไม่รอช้า หลังจากนั้นเพียง 1 ชั่วโมง เขาก็รีบไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นทันที
‘ขาข้างซ้ายไม่รู้สึกอะไรแล้ว กระดกเท้าไม่ได้’ เป็นความรู้สึกและอาการถัดมาหลังจากนั้น เมื่อเอ็กซ์เรย์ครั้งที่ 2 ก็พบว่า กระดูกฐานเข่าแตกร้าวเป็นแนวยาว ซ้ำร้ายกล้ามเนื้อที่บวมน่าจะเป็นอาการ ‘Compartment synonyms’ หรือ กล้ามเนื้อตาย มงคล จึงย้ายกลับมารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และผ่าตัดพร้อมกับตัดกล้ามเนื้อที่ตายทิ้งไป 80% พร้อมคำวินิจฉัยจากหมอที่บอกว่า “คุณจะกลับไปเดินเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว”
แค่เดินยังทำไม่ได้เลย แล้วการวิ่งที่เขารักล่ะ? คำถามที่วนไปวนมา พร้อมกับสภาพจิตใจที่ยังคงอยู่ในภาวะช็อก แต่การมองโลกตามความเป็นจริงเสมอ ทำให้เขาจมอยู่กับความท้อเพียงไม่นาน และหาหนทางที่จะทำให้ตัวเอง ‘ก้าว’ ต่อไปได้อีกครั้ง
“ผมท้ออยู่ 2 ช่วง ช่วงแรก คือ หลังการผ่าครั้งที่ 2 ซึ่งต้องตัดกล้ามเนื้อที่ตายออก เพราะจะไม่สามารถกลับมาวิ่งได้อีกแล้ว ตอนนั้นน้ำตาไหล เพราะผมวิ่งมาตลอด รู้สึกท้อแท้ ไม่อยากเจอใคร คิดวนแบบนั้นอยู่ 2 วัน ซึ่งหมอก็ได้บอกความจริงที่ถูกต้องแล้ว เพื่อให้เรารู้ว่าเราจะสามารถทำอะไรต่อกับตัวเองได้บ้าง ผมพยายามหาข้อมูลในต่างประเทศว่า คนแบบเราสามารถวิ่งได้ไหมและหาอุปกรณ์เพื่อให้เราสามารถเดินและวิ่งได้อีกครั้ง ส่วนช่วงที่สอง คือ เมื่อกลับไปรักษาตัวอยู่บ้าน กลางดึกตื่นมาจะเข้าห้องน้ำ แล้วเราเดินไม่ปกติอีกแล้ว นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ ต้องสร้างกำลังใจให้ตัวเองและคิดบวก”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่เป็นแบบนี้เกิดจากการวิ่ง แต่เพราะการวิ่งเป็นการออกกำลังกายพื้นฐานที่ดีที่สุด ด้วยพื้นฐานของการออกกำลังกายที่มีมาก่อน ทำให้เขาพักฟื้นตัวเร็วกว่าคนเจ็บทั่วไป โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือนจาก 6 เดือน ในการกลับมาเริ่มเดินได้ และฝึกก้าวเท้า เดิน ลุกจากเตียง และการบาลานซ์ร่างกาย
เขายังย้ำว่า “เราต้องรู้ลิมิตร่างกายของตัวเอง ผมพยายามทำกิจกรรมที่แตะลิมิตไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายเรียนรู้และขยับลิมิตนั้นออกไป”
ไม่ใช่เพราะโชคชะตากลั่นแกล้ง
ในห้วงความคิดของมนุษย์ แน่นอนว่าสิ่งที่เราไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นทำให้เราอาจพลั้งเผลอกล่าวโทษบางสิ่ง บางอย่าง แต่เมื่อเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นแล้วก็ตาม เวลาก็ไม่อาจนำพาเราย้อนกลับไปแก้ไขอะไรให้ดีกว่าเดิมได้ มีเพียงแต่การหาหนทางในการดำเนินชีวิตและแก้ไขมันต่อไป และเขาเองก็เช่นกัน
“ไม่เคยคิดโทษโชคชะตา เพียงแต่ช่วงแรก ๆ ก็มีคิดบ้างว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ลองคิดทบทวนเหตุการณ์ในวันนั้น เพื่อหาว่า สาเหตุมันคืออะไร มันเกิดทางแยก จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์มากมาย ถ้าเราทำอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราคงไม่บาดเจ็บรุนแรงขนาดนี้ คิดวนอยู่หลายเหตุการณ์มาก แต่สุดท้ายแล้ว เราก็มี ‘สติ’ รับรู้ได้ว่า มันก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย เพราะเราย้อนเวลากลับไปไม่ได้”
เมื่อเลิกคิดหาเหตุผลและอยู่กับปัจจุบัน พร้อมมองมุมกลับว่า โชคดีแค่ไหนที่ยังรักษาอาการบาดเจ็บได้ โชคดีแค่ไหนที่ร่างกายแข็งแรง สามารถฟื้นฟูได้เร็ว โชคดีแค่ไหนที่มีประกันอุบัติเหตุ โชคดีแค่ไหนที่มีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจ มันเหมือนประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตมาคอยช่วยค้ำจุนให้เราผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้มาได้
ปรับองศาความคิด ให้ชีวิตได้ไปต่อ
“ผมบอกตามตรงว่า ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคิดบวกขนาดนั้น และไม่ได้คิดบวกตลอดเวลา เพียงแต่เป็นคนมองโลกตามความเป็นจริง และไม่ยึดติดกับความความคิดลบ ๆ อะไรที่เรารู้สึกว่ามันลบ มันมารบกวนจิตใจเรา เราก็จะพยายามตัดมันทิ้งไป”
เมื่อปรับองศาความคิดว่า อยากเดินได้ อยากวิ่งได้ ด้วยสภาพขาแบบนี้ ทำให้เขาหา ‘หนทาง’ ที่จะไปต่อ และเรียนรู้ว่า ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ เพียงแต่ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ร่างกายของตัวเองเพื่อทำในสิ่งที่อยากทำ
“มันเหมือนคนที่ไม่มีแขน แต่สามารถใช้นิ้วเท้าวาดรูปได้ ประเด็นคือ ก็แค่อยากทำ แต่ต่างกันที่ ทำด้วยวิธีไหนก็เท่านั้นเอง มนุษย์เราอาจจะใช้เหตุผลในการกำหนดการดำเนินชีวิตมากเกินไป จนกำจัดกรอบความสามารถของตัวเอง”
แม้ร่างกายจะไม่เหมือนเดิม แต่จะวิ่งให้มีความสุขแบบเดิม
เขาอยากวิ่งแบบมีความสุข ดังนั้นการฟื้นฟูร่างกายก็เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ โดยเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสามารถของตัวเองไปเรื่อย ไม่เทียบร่างกายตัวเองกับอดีตก่อนที่จะบาดเจ็บ แต่จะค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ ให้มันดีกว่าเดิมในทุกวัน
“เมื่อเรามีความสุขกับการวิ่งอัลตร้าเทรล เราก็ฟื้นฟูและเทรนร่างกาย เพื่อวิ่งให้มีความสุข ไม่ได้บอกว่าจะกลับมาให้เป็นอย่างเดิม แต่บอกกับตัวเองเสมอว่า จะวิ่งให้มีความสุขแบบเดิมก็พอ” เขาเล่าอย่างมีความสุข
พธูรัตน์ วรกุลอมรรัตน์ – เกว ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมวิ่งบียอน และโค้ชฝึกสอนไตรกีฬาให้กลุ่มเด็กและเยาวชน เธอยังคงอยู่บนเส้นทางการวิ่งอย่างมีความสุข โดยมีสติและฟังเสียงหัวใจตัวเองเสมอ พร้อมกับทุ่มเทให้การกับการฝึกสอนเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นนักกีฬาที่แข็งแกร่งต่อไป
เมื่อหัวใจออกอาการ
เธอก็เหมือนวัยรุ่นทั่ว ๆ ไป ที่ต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ประกอบกับอยากใช้เวลาว่างในการดูแลตัวเอง จุดเริ่มต้นของการวิ่งคงคล้าย ๆ กับใครหลายคน ที่เห็นการสมัครวิ่งโผล่ขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจบนหน้าเฟซบุ๊ก สามปีให้หลังจากการสมัครวิ่งงานแรกก็ทำให้เธอเสพติดการวิ่ง จนมีสังคมวิ่งที่ใหญ่มากขึ้น และได้ผันตัวจากนักกีฬามาเป็นโค้ชสอนวิ่งอีกด้วย
“เราวิ่งมาทุกระยะ คือไม่เกินระยะฟูลมาราธอน (42.195 กม.) เคยทั้งวิ่งถนน และวิ่งเทรล ส่วนรางวัลที่ได้ก็มีพอสมควรเลย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นระยะมินิมาราธอนเป็นหลัก”
เส้นทางการวิ่งดูจะท้าทายและสวยงามสำหรับสาวน้อยตัวเล็ก ๆ เช่นเธอ แต่แล้วจู่ ๆ ระหว่างการแข่งขันเธอเกิดอาการหายใจไม่ทัน สายตาพร่ามัว และสลบไปในที่สุด
“ใช่ค่ะ…เราเคยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เราไปร่วมงานวิ่งตามปกติ แต่ด้วยความที่นอนไม่เต็มอิ่ม ต้องตื่นเช้ามาก และวันนั้นก็วิ่งเร็วกว่าปกติ มันเลยทำให้อาการแสดงออกมา คือ จุก หายใจไม่ทัน ต้องจากลดความเร็วลงจนถึงขั้นเดิน หลังจากนั้นเริ่มเบลอ จนสุดท้ายภาพตัดไป จำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ที่โรงพยาบาล”
นับจากเหตุการณ์วันนั้น เธอต้องรักษาตัวด้วยการสวนหัวใจเพื่อจี้ไฟฟ้า ทำให้เธอต้องใช้เวลาพักฟื้นราว 1 เดือน จึงจะสามารถกลับมาวิ่งเหมือนเดิม
เจอกันครึ่งทาง
จริงอยู่การวิ่งคือสิ่งที่เธอรัก แต่หัวใจที่ไม่ปกติก็อยู่ในร่างกายที่เธอรักเช่นกัน การถอยมาเจอกันครึ่งทางระหว่างการที่เธอยังได้วิ่ง กับการไม่โหมร่างกายจนเกินไปน่าจะเป็นทางออกที่ดี
“ตอนแรก ๆ มันก็รู้สึกว่าไม่เหมือนเดิม วิ่งแล้วก็เหนื่อยง่าย วิ่งแล้วก็นอยด์ตัวเอง เถียงกับตัวเองตลอด ว่าทำไมตอนนี้มันแย่กว่าตอนนั้น ทำไมวิ่งเท่าเดิมไม่ได้ จนไม่อยากลุกขึ้นมาวิ่ง หรือแม้แต่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักแท้ ๆ แต่พอเวลาผ่านไปซักระยะหนึ่งได้อยู่กับตัวเอง และทบทวนว่าเราออกกำลังกายเพื่ออะไร จึงพบว่า "ออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดี ไม่ใช่เพื่อทำลายตัวเอง" จากวันนั้นทำให้ลุกขึ้นมา มองข้ามสิ่งที่ทำลายจิตใจ และค่อย ๆ พาตัวเองกลับมาแข็งแรง วิ่งให้สนุก และมีความสุข และนี่คือคำตอบที่ต้องการจริง ๆ”
เมื่อเธอค้นพบคำตอบของการยังคงอยู่บนเส้นทางวิ่งที่รักแล้ว การดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเธอต้องระวัง “หัวใจ” ของตัวเองด้วย การออกกำลังกายที่พอเหมาะ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และคอยฟังเสียงร่างกายตัวเองตลอดทุกครั้งที่ออกไปวิ่ง ก็ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจที่จะลุกออกไปวิ่งแล้ว
ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่กัปตันทีม
ปัจจุบัน เกว เป็นนักกีฬาและผู้จัดการทีมวิ่งบียอน นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับเธอมากทีเดียว และอยากถ่ายทอดทักษะการวิ่งให้กับบุคคลที่อยากเรียนรู้ และสร้างนักวิ่งหน้าใหม่ เพื่อให้รู้จักการวิ่งอย่างถูกวิธีและเกิดการพัฒนาตัวเอง นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอก้าวข้ามสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญ สู่ความท้าทายที่อยากส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่สังคมการวิ่ง
แค่หยิบรองเท้า แล้วออกมาวิ่ง
“การวิ่งไม่ได้ยากอย่างที่คิด” เธอฝากบอกไปยังนักวิ่งหน้าใหม่ ที่กำลังจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเอง แค่เพียงมีรองเท้าวิ่งก็ออกมาวิ่งได้แล้ว แม้ช่วงเริ่มแรกจะเหนื่อยหน่อย แต่ก็ขอให้เดินสลับวิ่ง แค่มีเป้าหมายและไม่ท้อไปเสียก่อน
“การเริ่มต้น มันยาก แต่ถ้ามองว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีสุขภาพดี แข็งแรงในระยะยาว มันก็คุ้มที่จะลงทุน” เธอ ทิ้งท้าย
ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ มีเพียงแค่ยังไม่ได้ลองทำ ใครสักคนเคยกล่าวเอาไว้แบบนั้น การวิ่งก็เช่นกัน ไม่มีใครที่จะวิ่งไม่ได้ มีเพียงแค่ยังไม่ลองวิ่ง เพราะนี่คือการออกกำลังกายพื้นฐานของมนุษย์ที่นับว่าง่ายที่สุดแล้ว
การพยายามของ ‘ก้าวแรก’ นับว่าเป็นครั้งสำคัญที่ทำให้เราจดจำไปตลอด งานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ หรือ Thaihealth Day Run 2018 ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กำลังจะจุดไฟในตัวนักวิ่งหน้าใหม่ และเป็นงานพบปะของนักวิ่งหน้าเก่าที่จะร่วมวิ่งด้วยกัน ภายใต้ความตั้งใจของทีมงานพัฒนามาตรฐานการจัดกิจกรรมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายวิ่งทั่วประเทศ
วันที่ 11 พ.ย. 2561 ณ สนามศุภชลาศัย เราจะมารวมพลังเหล่านักวิ่งและก้าวไปสู่สุขภาพดีด้วยกัน สามารถติดตามรายละเอียดการสมัครวิ่งได้ที่ https://www.facebook.com/runfornewlife