การบริโภคอาหาร สำหรับแม่ตั้งครรภ์และให้นม
ที่มา : หนังสืออยากสุขภาพดีต้องมี 3 (มูลนิธิหมอชาวบ้าน)
แฟ้มภาพ
การตั้งครรภ์และให้นมบุตรเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจอย่างมาก โภชนาการที่ดีมีความสำคัญทั้งต่อแม่และทารก คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรใส่ใจในการเลือกกินอาหารที่มีความเหมาะสม ดังนี้
– แม่ตั้งครรภ์และให้นม มีความต้องการพลังงานและโปรตีนเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนตั้งครรภ์ จึงควรกินอาหารหมวดข้าวแป้งเพิ่มขึ้นวันละ 1-2 ทัพพี เพิ่มเนื้อสัตว์ไขมันต่ำวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ และเพิ่มนมไขมันต่ำวันละ 1 แก้ว จากปกติตั้งแต่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อให้ทารกในครรภ์เติบโตได้ดีและมีน้ำนมเพียงพอสำหรับให้ทารก
– สารอาหารที่ควรให้ความเอาใจใส่ในช่วงเวลาอันสำคัญนี้ ได้แก่ โฟเลต ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และโพแทสเซียม ควรกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กที่ได้จากแพทย์เป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับธาตุเหล็กอย่าเพียงพอ สำรับสารอาหารอื่นที่กล่าวถึงนี้สามารถได้รับเพียงพอจากการกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว และผลไม้ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น
– หญิงที่กำลังตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12 กิโลกรัม (ระหว่าง 10-14 กิโลกรัม) เพื่อให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวที่ไม่น้อยหรือมากเกินไป ถึงกระนั้นก็ตามค่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมในระหว่างคั้งครรภ์จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของหญิงแต่ละคนก่อนการตั้งครรภ์ ถ้าน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คุณแม่ควรที่จะเพิ่มน้ำหนักให้ได้อย่างน้อยเทียบเท่ากับเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้
การที่ทารกได้รับสารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการที่สมบูรณ์ของอวัยวะที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท ซึ่งพัฒนาการที่สมบูรณ์จะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัยของร่างกาย