′วิน-วิน′ เจ้านาย-ลูกน้อง มีมุมนมแม่ในที่ทำงาน

       ไม่มีใครเสียผลประโยชน์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น "เจ้านาย" หรือ "ลูกน้อง" หากสถานประกอบการมี "มุมนมแม่ในที่ทำงาน" แต่…ปัญหาคือ "สถานประกอบการ" ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการมีมุมนมแม่ เพราะเชื่อว่าการมีมุมนมแม่เป็นเรื่องของการ "เสียผลประโยชน์" ทั้งที่ "นมแม่" สร้างประโยชน์มากมายมหาศาล


/data/content/25151/cms/e_bcdhilqrux18.jpg


      พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา "สร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่" ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ว่าการที่มารดาจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคือ "สถานที่ทำงาน" เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มมารดาที่ทำงานนอกบ้านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ


      "การมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน ทั้งผู้บริหารและพนักงานได้ประโยชน์ วิน-วินทั้งคู่ รวมถึงประเทศชาติก็ได้รับประโยชน์ด้วยซึ่งจากผลการวิจัยระบุว่า การลงทุนในเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ขวบ ให้ผลตอบแทนทางสังคมถึง 8 เท่า เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่สมองเติบโตเร็วที่สุด ถ้าเราไม่ลงทุนตอนนี้ จะไปสร้างต่อตอนโตก็จะช้าไป นี่คือหลักการสำคัญที่เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้"


    /data/content/25151/cms/e_cdfgimvx3469.jpg หลังจากดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการหลายแห่งให้การ "ตอบรับ" และ "พึงพอใจ" แม่ผลสำเร็จของประเทศไทยจะยังไม่ได้วัดออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน พญ.ยุพยงขอยกตัวอย่างผลสำเร็จของอเมริกาที่มี "กฎหมายอนุญาตให้แม่นำลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานได้"


     "ผลลัพธ์เป็นที่น่าทึ่งมาก เพราะสถานประกอบการจะให้ความรู้ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอด ปรากฏว่าสามารถลดอัตราคลอดที่ไม่พึงประสงค์ลงได้ จากร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 6 และเมื่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี และร้อยละ 32 ของแม่กลับมาทำงานเร็วกว่ากำหนด ร้อยละ 86 แม่ลาหยุดงานน้อยลง โดยแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกจะลาหยุด 9 วันต่อปี แต่แม่ที่ให้นมลูกลาหยุด 3 วันต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยให้แม่กังวลเรื่องครอบครัวน้อยลง และประหยัดค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ที่สำคัญ แม่มีทัศนคติที่ดีต่อบริษัท ลดการลาออก และอยากจะทำงานบริษัทนี้ตลอดไป เพราะบริษัทได้ให้สิ่งที่มีค่าที่สุด คือ การดูแลลูกของเขา"


      ขณะที่สุขภาพของแม่และลูกก็เป็นสิ่งที่เขาได้รับอย่างเต็มที่ "ผู้หญิงคนหนึ่งเมื่อมีลูกแล้ว เป็นวงจรที่ครบถ้วน คือ ตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้ลูกกินนมแม่ มันถึงจะครบ เรียกว่าวงจรอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ ต่อให้เราไปฝืนกับธรรมชาติ เราก็สู้ธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องให้ไปตามกระบวนการ เมื่อธรรมชาติสร้างสรรค์มาดีแล้ว"


      ซึ่งมุมนมแม่ไม่ได้ใช้อะไรมาก "ไม่เปลืองค่าใช้จ่าย" อีกทั้งมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ยังให้การสนับสนุนเรื่อง "ความรู้" เชิงลึกด้านวิชาการและการแพทย์ สถานประกอบการเพียงแค่จัดสถานที่ที่เป็น "ส่วนตัว" ให้แม่สามารถบีบ เก็บ ตุนน้ำนมได้ในระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อแม่จะได้นำน้ำนมกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ เพราะถ้าไม่มีมุมนมแม่ แม่ก็ต้องบีบน้ำนมในห้องน้ำซึ่งไม่สะดวกและไม่สะอาดนัก


      "สำคัญมากที่สุดคือการให้เวลาบีบน้ำนม ซึ่งต้องกินเวลาระหว่างงาน อยากให้หัวหน้างานและผู้บริหารเข้าใจ เพราะถ้าบีบเก็บน้ำนมไม่สม่ำเสมอ น้ำนมจะแห้งลง อาจทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ"


     ทั้งนี้ แม่จะใช้เวลาในการบีบน้ำนมประมาณ 30 นาทีเท่านั้น "โดยปกติแม่จะบีบน้ำนมทุก 3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่แม่/data/content/25151/cms/e_dghjnrtz2379.jpgรู้สึกคัดเต้านม แต่ถ้าแม่ทำสม่ำเสมอ แม่จะควบคุมตัวเองได้ สามารถบีบน้ำนมได้เป็นเวลา อย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาแม่จะบีบน้ำนมช่วงพักเบรก เช่น เบรก 10 โมง เบรกเที่ยง เบรกบ่าย 3 โมง เป็นต้น"


      "คุ้มมาก" ทั้งเจ้าของสถานประกอบการ แม่ เด็ก และประเทศชาติ "ประเทศชาติของเราต้องการเด็กที่เติบโตมาได้รับทั้งความรัก ความอบอุ่น และสติปัญญา ซึ่งตรงนี้เป็นฐานการสร้างคุณภาพของเยาวชนต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายของการซื้อนมผงจากต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะการให้นมแม่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากมายเลย นมแม่เรียกว่ากรีน เอ็นไวรอนเมนต์ (Green Environment) มุมนมแม่ตอบโจทย์มิติคุณภาพชีวิตของคนและประเทศชาติได้ดี"


     ด้านอนุรักษ์ นภาวรรณ เจ้าของสถานประกอบการ บจก.เซรามิคำ จำกัด ที่เริ่มทำมุมนมแม่ในสถานประกอบการมาตั้งแต่ปี 2548 บอกว่า ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องมุมนมแม่ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมี แต่เมื่อได้พูดคุยกับแพทย์แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่ทำ เพราะไม่มีอะไรเสียเลย โดยช่วงแรกที่ทำไม่ได้ลงทุนมาก กั้นห้องเล็กๆ มีเครื่องปั๊มนมและตู้เย็นให้ แต่จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันนี้กลายเป็นเดย์แคร์ที่ให้พนักงานนำลูกมาเลี้ยงที่โรงงานได้


     "สิ่งที่ได้จากมุมนมแม่ สำคัญที่สุดคือแม่และเด็กได้รับประโยชน์ ส่วนโรงงานก็ได้รับผลพลอยได้ เพราะแม่ลาหยุดน้อยลง จากเมื่อก่อนที่ลางานเพราะลูกป่วยบ่อยมาก มุมนมแม่สร้างความคุ้มค่าให้กับทุกฝ่าย"


      ปิดท้าย ภัสธารีย์ จิตรธนสิทธิ์ แม่อาสา บจก.สยามเด็นโซ่ แมนูเฟคเจอริ่ง บอกว่าต้องขอบคุณบริษัทที่จัดทำมุมนมแม่ขึ้นมา รู้สึกว่าโชคดีมาก เพราะไม่ใช่แต่มุมที่ให้เราบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูก แต่ยังมีการอบรมให้ความรู้ตั้งแต่การตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอด รวมทั้งการเลี้ยงดูลูกด้วย ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องลาออกจากงาน มีเวลาที่จะให้นมลูกด้วยตัวเราและมั่นใจได้ว่าลูกจะมีสุขภาพดี


     "เรารักลูก อยากให้ลูกได้รับสิ่งดีที่สุด ซึ่งบริษัทให้เราตรงนี้ได้ สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้" ภัสธารีย์ทิ้งท้าย


    สถานประกอบการใดอยากจะช่วยสร้างรากฐานสังคมให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ สอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โทร.08-1831-2202, 08-1831-2264


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์มติชน


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code