๑ อ่านล้านตื่น ชวนมอบหนังสือคุณภาพ
“ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านด้วยหนังสือคุณภาพ” ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย บริษัท SCG Paper จำกัด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปรษณีย์ไทยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านได้ร่วมเปิดตัวโครงการ “๑อ่าน ล้านตื่น” ขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่42 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะคัดเลือกหนังสือที่มีคุณภาพที่ยังมีสภาพที่ดี เป็นหนังสือที่เหมาะกับวัย และสถานการณ์ปัจจุบัน มอบให้กับโครงการนำร่องในพื้นที่ทั้งหมด 50 ชุมชน
“๑อ่าน ล้านตื่น” เป็นโครงการชวนสร้างปัญญาด้วยหนังสือคุณภาพ ด้วยการรณรงค์ให้ซื้อหนังสือใหม่เพื่อการบริจาค ส่งมอบหนังสือใหม่ที่ได้รับจากการบริจาค ให้ห้องสมุดเด็กและครอบครัวในชุมชนต่าง ๆ กว่า 50 แห่งที่ผ่านการคัดสรรจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมการอ่าน สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้
นางสุชาดา สหัสกุล กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยถึงโครงการนี้ว่าเกิดขึ้นเพราะ “ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านด้วยหนังสือคุณภาพ” มองว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดแก่สังคมไทยได้นั้นคือหนังสือที่น่าอ่านและมีคุณภาพ ทว่าน่าเสียดายที่หลายครั้งเด็กๆโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสในชุมชนต่างๆกลับได้อ่านหนังสือที่รับบริจาคมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ผู้อื่นไม่ต้องการและไม่มีการคัดกรองให้เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้อ่าน ซึ่งแทนที่การอ่านจะเป็นผลดีกับชีวิตก็อาจจะกลายเป็นผลเสียได้
“การขอรับบริจาคหนังสือนั้น ส่วนใหญ่จะได้หนังสือที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ เพราะผู้บริจาคบางคนไม่ไดให้ความสำคัญในการเลือกหนังสือลงกล่องรับบริจาค แถมยังต้องเสียเวลาในการคัดแยก เสียค่าแรงให้แก่คนคัด จนบางครั้งการไปซื้อหนังสือใหม่บริจาคอาจคุ้มค่ากว่า มองในแง่ของผู้อ่าน เราคงอยากอ่านหนังสือใหม่เอี่ยมอ่องในเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพ มากกว่าหนังสือสภาพชำรุดยับเยิน มีรอยดำเหมือนมีราขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากเด็กเล็กแล้วยังมีผู้ใหญ่ที่เราหาหนังสือใหม่ๆไปให้เขาด้วย เพราะถ้าแม่อ่านและเห็นประโยชน์ แม่ก็จะเสาะหาหนังสือให้ลูกอ่านเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ครอบครัวที่รักการอ่าน จะเป็นครอบครัวที่ดำเนินชีวิต ด้วยปัญญา สงบสุขและไม่เป็นภาระของใคร ไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกเอารัดเอาเปรียบ”
ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านมีภารกิจและยุทธศาสตร์ที่ตรงกับโครงการ ๑อ่าน ล้านตื่นคือ ทำอย่างไรให้มีหนังสือดีๆเข้าถึงชุมชนโดยเฉพาะกับหนังสือที่ตรงกับความต้องการของวัย ซึ่งในต่างจังหวัดหรือท้องถิ่นไกลๆนั้นโอกาสที่จะเข้าถึงหนังสือมีน้อยมาก
“เราพบว่าเด็กๆจะตื่นเต้นมาก เมื่อมีหนังสือชุดใหม่ๆเดินทางไปถึง ยิ่งหากตรงกับความสนใจ ก็จะช่วยให้เกิดการรักการอ่านได้ไม่ยากและจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการอ่านด้วย
ตัวอย่างที่เห็นชัดมากๆคือในเด็กเล็กแรกเกิด ถึง3 ปี ถ้าเราให้พ่อแม่ใช้หนังสือที่ผิดประเภทกับเด็ก จะไม่ส่งผลในการพัฒนาศักยภาพเด็ก ทั้งทักษะภาษา สายตา การพัฒนาสมองที่เติบโตสูงสุดในวันนี้ เราจะพลาดโอกาสทองอย่างน่าเสียดาย ในวัยที่โตขึ้นอีกหน่อย วัยประถมศึกษา ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญอีกวัยหนึ่งของการสร้างฐานกระบวนการเรียนรู้ หากเด็กเจอหนังสือที่ไม่ชี้ชวนการอ่าอน เขาก็จะปฏิเสธการอ่านอย่างยากที่จะสร้างขึ้นได้อีก” นางสุดใจเผยด้วยว่าค่านิยมในการบริจาคจึงควรจะเปลี่ยนแปลงไป โดยควรจะเป็นการให้อย่างมีคุณภาพ
“เราอยากเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการให้ ควรเป็นการให้อย่างมีคุณภาพ หนังสือที่คิดจะให้ผู้อื่นก็ควรเป็นหนังสือที่เลือกสรรดีแล้วว่าตรงกับวัย ตรงกับความสนใจ สร้างความสุขให้กับผู้ได้รับ คนที่ได้รับได้มีโอกาสพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเขาได้รับสิ่งที่ดี เขาก็มีโอกาสที่จะคืนสิ่งดีๆ ให้สังคมต่อไปเช่นเดียวกัน”
ด้านนางสาวอาทิตยา จำปา ผู้จัดการส่วนการตลาด ตัวแทนจากกระดาษถนอมสายตากรีนรี้ด บริษัท SCG Paper จำกัด เปิดเผยว่าในฐานะที่กรีนรี้ดสนับสนุนเรื่องการอ่านและการเขียนมาอย่างต่อเนื่อง มองว่าโครงการนี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่และน่าสนใจมาก ซึ่งสาเหตุที่ทุกภาคีมาร่วมมือกันนั้น ก็เพราะต้องการให้การอ่านที่มีคุณภาพได้เข้าถึงชุมชนต่างๆที่ยังขาดแคลนมากขึ้น
“การบริจาคหนังสือทั่วไปไม่มีผลเสียแต่อย่างใดค่ะ เพียงแต่หนังสือที่ได้รับมาจะต้องนำมาคัดกรองแยกประเภทเพื่อให้ตรงกับความต้องการของชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลา ค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องการขนส่ง เรื่องบุคคลากรในการคัดแยกอีกมากมาย และเนื้อหาก็อาจไม่ครอบคลุมกับช่วงวัยต่างๆของแต่ละชุมชน
ซึ่งโครงการ ๑อ่านล้านตื่น จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริจาค ให้สามารถบริจาคได้ทั้งในรูปแบบเงินหรือชุดหนังสือ ผู้รับก็จะได้รับประโยชน์จากหนังสือที่ตรงกับช่วงวัยที่เหมาะสม และเพิ่มโอกาสในการอ่านให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง
เราอยากเห็นผู้ที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือ ได้แบ่งปันโอกาสให้กับผู้ที่มีความต้องการอ่านแต่ยังขาดแคลนได้เข้าถึงหนังสือคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น หวังว่าโครงการนำร่องในพื้นที่ 50 ชุมชนนี้ จะได้รับประโยชน์จากหนังสือที่ได้รับการคัดสรรมาแล้วและผู้อ่านสามารถนำไปต่อยอดได้”
ขณะที่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการบริจาคหนังสือซึ่งไม่เป็นที่ต้องการอย่าง นายณวพลภ์ บุญอาษา ประธานศูนย์พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ครอบครัวตำบลเหล่าใหญ่ จ. กาฬสินธุ์ ก็มองว่าการบริจาคหนังสือควรจะบริจาคหนังสือที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้จริง
“ถ้าจะบริจาค ก็ควรคัดสรรหนังสือคุณภาพน่าจะดีกว่า เช่นหนังสือเด็กควรมีความสอดคล้องตามช่วงวัย มีสภาพหนังสือที่สมบูรณ์ หนังสือวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่สื่อต้องมีเนื้อหาสร้างสรรค์หรือสื่อนั้นไม่ตกยุค เหมาะกับคนทุกวัย ส่วนหนังสือไม่มีคุณภาพที่บริจาคให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ เช่น หนังสือที่แฝงความรุนแรง มีภาพแต่งกายโป๊ หนังสือแบบเรียนเก่า ชำรุด แบบฝึกหัดที่ขีดเขียนแล้วหรือนิตยสารรายปักษ์ รายสัปดาห์เก่าๆที่ข่าวสารไม่เป็นปัจจุบัน ส่วนใหญ่เราก็จะคัดแยกออกไป เนื่องจากหนังสือบางเล่มไม่เหมาะสมกับวัย และสถานการณ์ปัจุบัน
ผมมองว่าการที่เด็กเยาวชนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ได้อ่านสื่อการอ่านที่มีคุณภาพจะช่วยยกระดับการเรียนรู้ ความคิด สติปัญญา เช่น การที่เด็กปฐมวัยตอนต้นถ้าได้อ่านสื่อที่สมวัย มีรูปภาพ ขนาดรูปเล่มและเรื่องราวที่สมวัยก่อให้เกิดจินตนาการและความคิด พร้อมกับช่วยกระตุ้นการเติบโตทางความคิดของเด็ก ให้เขาได้เตรียมความพร้อมทางความคิด ทางสายตา พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กจากการหยิบจับหนังสือที่มีขนาดเหมาะกับมือ มีหนังสือที่สื่อสัญลักษณ์ทางภาษาผ่านภาพเขียนหรือตัวอักษรที่มีขนาดเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการจดจำเรื่องราวและการตีความหรือสื่อความหมายได้เอง และช่วยให้เขาเกิดแรงกระตุ้นอยากอ่าน อยากฟังมากขึ้นด้วย”
ขณะที่น.ส.วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชานแดนใต้(กลุ่มลูกเหรียง )จ. ยะลา กล่าวว่า หนังสือที่ไม่มีคุณภาพจะไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
“เวลาที่เราได้หนังสือเก่ามา จริงๆก็ต้องขอบคุณเขาที่มีใจอยากช่วยเหลือ แต่น่าเสียดายถ้าหนังสือไม่มีคุณภาพก็จะไม่ได้ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่านั้น ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งและแปรไปใช้อย่างอื่น
หนังสือก็เหมือนห้องเรียน โรงเรียน ที่จะช่วยปั้นปรุงแต่งคนให้สามารถเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ โรงเรียนดี เราก็จะได้คนดีคนคุณภาพไปพัฒนาประเทศ หนังสือคุณภาพเองก็จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คุณค่าของตนเอง คุณค่าคนอื่นๆ เพราะจังหวะการก้าวที่สำคัญของชีวิตมาจากการรู้จริงที่สมบูรณ์”น.ส.วรรณกนกกล่าว
“ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านด้วยหนังสือคุณภาพ” ได้จัดทำหนังสือเป็นกลุ่มให้เลือกทั้งหมด 13 กลุ่ม เพื่อให้ผู้บริจาคเลือกซื้อได้สะดวก หรือตรงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจจะมอบให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่โครงการนี้จะสำเร็จได้โดยผู้ใจบุญ มาร่วมกันมอบหนังสือคุณภาพ สร้างทานแห่งปัญญา สนับสนุนโครงการได้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่12 ที่บูท X04 บริเวณเมนฟอร์เย่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือสั่งซื้อโดยตรงมาที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้หลังจากจบงาน
ที่มา : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.