Now and Beyond คนไทยคิดค้นนวัตกรรมช่วยคนติดเตียงพลิกตัวด้วยระบบไฟฟ้า
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือเรียกว่ากลุ่มติดบ้านและติดเตียงทวีมากขึ้น เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากการสำรวจผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงตามการคัดกรองความสามารถในการดำเนิน ชีวิตประจำวัน พบผู้สูงอายุติดเตียง ร้อยละ 0.5-1 ของผู้ป่วยทั้งหมด (กรมอนามัย, 2565) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะปัญหาแผลกดทับ ข้อติดแข็ง กล้ามเนื้อ ฝ่อลีบ ทั้งนี้ ค่าบริการดูแลผู้สูงอายุ อัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้สูงอายุติดเตียง 24 ชั่วโมงของ สถานบริการต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ระหว่าง 16,000-40,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
ปัจจุบัน มีนวัตกรรมเตียงพลิกตัวเพื่อช่วยผู้ป่วยติดเตียง คือการพัฒนาเตียงผู้ป่วยที่อำนวยความสะดวกในการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยและลดภาระของผู้ดูแล เริ่มต้นจากเตียงพลิกตะแคงตัวแบบมือหมุน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าอัตราการเกิดแผลกดทับลดลง ต่อมาได้พัฒนาเป็นระบบไฟฟ้า ติดตั้งระบบจอสัมผัสควบคุม ระบบแจ้งเตือนการเกิดแผล ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานทางการแพทย์ และได้รับอนุสิทธิบัตรแล้ว อีกทั้งรางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติที่ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส รวมทั้งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่านวัตกรรมที่สร้างขึ้นสามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลและเพิ่มอัตราการหายของแผล รวมทั้งการช่วยลดภาระของผู้ดูแลได้
การพัฒนาเตียงดังกล่าวดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2560 โดยทีมนักวิจัยที่ใช้ องค์ความรู้สหสาขาวิชาชีพทางด้านสุขภาพ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมมือกันภายใต้ภารกิจของศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาเตียงจาก การศึกษาบริบทการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน และวิเคราะห์ความต้องการจริงๆ ของผู้ป่วย ในปี 2566 ทีมวิจัยมีโครงการที่จะพัฒนาชุดนวัตกรรมแบบใช้งานร่วมกับระบบ IoT (Internet of Things) ที่สามารถสื่อสารระหว่างเตียง ผู้ป่วย ผู้ดูแล และทีมสุขภาพ ในการช่วยส่งเสริมสุขภาพ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากสภาวะของโรค ลดจำนวน ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
นักวิจัยได้ศึกษาข้อดีข้อด้อยของเตียงแต่ละชนิดทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น ราคา วัสดุ ความ แข็งแรงทนทาน ความเสี่ยง/อันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจัดการภาวะแทรกซ้อนที่เกิดบ่อยๆ ทั้งยังเปรียบเทียบอัตราการเกิดแผลกดทับกับเตียงผู้ป่วยปกติ ศึกษาความพึงพอใจของผู้ดูแล (ปัจจุบันพบว่า กลุ่มผู้ดูแล เป็นผู้สูงอายุที่ดูแลกันเองเพิ่มขึ้น จึงไม่มีแรงพอจะยกพลิกตัวผู้ป่วย) รวมทั้งเปรียบเทียบต้นทุนต่อวันที่รวมค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลที่ต้องหยุดงานอยู่บ้าน พบว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปในทิศทางที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการดูแลทั้งระบบ
การทำงานของนักวิจัยในลักษณะ สหสาขาวิชาชีพตามโครงการนี้ นำไปสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพในสังคมไทย เป็นการจุดความหวังที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพออกสู่ตลาดโลก หรือทดแทนการนำเข้า เป็นการสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์และสร้างประโยชน์สุขในเชิงสาธารณะได้เป็นอย่างดี
ตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในไทยมีมูลค่าราว 1.2% ของ GDP (อ้างอิงข้อมูลปี 2563) รายงานในปี 2562 ระบุว่าเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีทาง การแพทย์ของโลกในปี 2563 จะมากถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้นกว่า เท่าตัวจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมด้าน Digital Health มาใช้มากขึ้น
ไม่เพียงเตียงพลิกตัวระบบอัตโนมัตินี้เท่านั้น ยังมีงานวิจัยและพัฒนาอื่นๆ ที่นำไปสู่นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วย เป็นความหวังสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทุกกลุ่ม และการรับมือกับสังคมสูงวัย รวมถึง การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่รัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เพราะคนไทยทำได้และทำให้เห็นแล้ว