ไอซีทีจากเกาหลีศึกษา “5 ประการสำคัญ สู่ความสำเร็จด้านไอซีที”

ปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความสำเร็จด้านการจัดการ

 ไอซีทีจากเกาหลีศึกษา “5 ประการสำคัญ สู่ความสำเร็จด้านไอซีที”

          จากการศึกษาดูงานถึงมาตรการเชิงกฎหมาย นโยบายการพัฒนาตลอดจนความร่วมมือด้านสื่อความปลอดภัยและสร้างสรรค์ในประเทศเกาหลีใต้ โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับแผนงานไอซีทีสำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัทเอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 4 ตุลาคม 2551 พบปัจจัยหลักสำคัญ 5 ด้าน คือ

 

          ประเด็นแรก แนวคิดพื้นฐานของนโยบายของรัฐ ถูกสร้างขึ้นจากมุมมองด้านบวก โดยมองจาก “โอกาส” ในการใช้ประโยชน์จากไอซีที ทั้งในแง่ของโอกาสในการพัฒนาด้านการศึกษา โอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมโอกาสในการส่งออกเชิงวัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ โอกาสในการพัฒนาสังคมโดยใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือ ทำให้มิติของการจัดการมุ่งไปยังด้านการส่งเสริม มากกว่าการเข้าไปควบคุมกำกับดูแล หรือ ปราบปราม

 

          ประเด็นที่ 2 การจัดทำแผนแม่บทระยะยาว ชัดเจนเป็นระบบต่อเนื่อง เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน และไม่แปรผันตามนโยบายการเมือง โดยแผนแม่บทเน้นการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์โดยเฉพาะศักยภาพของคน (Humanware) และวัฒนธรรมการใช้ไอซีที ไปพร้อมกัน ทั้งการสร้างความสามารถในการใช้งานไอซีทีให้กับครู เด็ก ผู้ปกครอง การพัฒนาบุคลากรด้านเกมการสร้างแรงบันดาลใจด้านความคิดสร้างสรรค์ สร้างหนังตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากไอซีทีให้กับคนเกาหลี ที่ไม่ได้เน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ระยะเวลาใดเวลาหนึ่งตามกระแสประกอบกับ เส้นทางหรือช่องทางของการส่งเสริมเชิงอุตสาหกรรมที่ภาครัฐปูทางไว้ให้กับภาคเอกชนที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่น่าแปลกใจที่เกาหลีจะประสบความสำเร็จอย่างมากมาย

 

          ประเด็นที่ 3 การลงมาจัดการอย่างจริงจังโดยภาครัฐ อีกทั้ง ระบบโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรรัฐที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดวางอยู่บนแผนแม่บทเดียวกันแต่แบ่งงานกันทำเชื่อมประสานงานกันอย่างลงตัว ไม่ได้ต่างคนต่างทำ ต่างกรรมต่างวาระ นอกจากนั้น ยังเห็นภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ และภาคเอกชนภาควิชาการ ภาคประชาชน ภายใต้แผนแม่บทใหญ่ในฐาน “เพื่อภาคี” ในการทำงาน ไม่ได้มองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

 

          ประเด็นที่ 4 การลดช่องว่างการเข้าถึง เสริมโอกาสในการใช้งานให้กับคนทุกวัย ทุกกลุ่มคน คือ Digital Divide เพราะ “รัฐบาลเกาหลี” มองว่า สามารถใช้ไอซีทีในการพัฒนาโอกาสด้านต่างๆ ให้กับสังคมเกาหลี ดังนั้น มาตรการภาครัฐตั้งเป้าชัดเจนว่า ทุกคนต้องมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากไอซีทีได้ ไม่เว้นแม้แต่ คนพิการ ผู้สูงอายุ คนยากคนจน ความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือช่วยเหลือคนเหล่านี้ การอบรม รวมถึง การกระจายอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ จึงถูกจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

          ประเด็นสุดท้าย การสร้างวัฒนธรรม ความเชื่อร่วมกัน และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อตั้งเป็นฐานความรู้ในการต่อยอดการพัฒนางาน ประเด็นนี้ เกาหลีให้ความสำคัญอย่างมาก

 

          ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้น ถูกร้อยเรียง จัดทำผ่านมาตรการเชิงวัฒนธรรม ที่ค่อยๆ ปลูกความเชื่อร่วมกันของคนในเกาหลี เรามองเห็นการดำเนินชีวิตภายใต้วัฒนธรรมแห่งชาติร่วมกัน ที่ไม่ได้มองว่าไอซีทีเป็นเรื่องเลวร้าย ไกลตัวกลับมองว่านี่คือโอกาสเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องอยู่กับไอซีทีให้ได้รวมถึงถึง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเพื่อ “ให้ได้ยิน” มากกว่า “แค่ให้ได้ฟัง” เราจะเห็นกรรมการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อมาจาก 6 เดือนเพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาต่อยอด เหล่านี้ กลับมองไม่เห็นในประเทศไทย

 

          กลับมามองที่ประเทศไทย เรามีองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่หลายหน่วยงาน แต่อยู่ในสถานะที่ต่างคนต่างทำ และเน้นมาตรการปราบปรามมากกว่าส่งเสริม

 

          ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแนวทางการจัดการ และการทำงานเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนไปด้วย เพื่อเห็นโอกาสในเชิงสร้างสรรค์เกิดในขึ้นประเทศไทย…

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 11-11-51

Shares:
QR Code :
QR Code