“ไหว้ผีหอเจ้าเมือง” เรียนรู้เรื่องเลิกเหล้า ตอนที่ 2
ผู้นำทางจิตวิญญาณกับการเลิกเหล้า
กว่าสามชั่วโมงในการเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านอำเภอเชียงดาว อำเภอไชยปราการ และจุดหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้คือการเข้าร่วมกิจกรรมไหว้หอเจ้าเมือง ณ บ้านลาน ตำบลม่อนปีน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่แนวตะเข็บชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐฉาน ประเทศพม่า พื้นที่บ้านลานจึงมีชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่อาศัยพักพิงเป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้าที่พวกเราจะเข้าร่วมงานประเพณีของชาวไทใหญ่ในวันรุ่งขึ้น พวกเราได้มีโอกาสพูดคุยกับหมอเมือง 2 รุ่น “พ่อนุ โพงจ่าม” อดีตหมอเมืองผู้ดำเนินพิธีกรรมมาแล้วกว่า 7 ปี และ “พ่อปาง จิ่งต่า” หมอเมืองคนปัจจุบัน ทั้งคู่ผลัดกันอธิบายถึงเรื่องราวของประเพณีการไว้ผีเจ้าเมืองว่า การกินอาหารและเหล้าที่ปู่เมืองแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีได้กินนั้น เป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทใหญ่ไม่ใช่การกินเพื่อให้ท้องอิ่ม แต่การกินอาหารและเหล้าที่ผ่านพิธีกรรมนี้เป็นการกินแบบศักดิ์สิทธิ์รวมหมู่ญาติพี่น้อง เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมสืบสานความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นซึ่งเป็นการขัดเกลา/สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันต้องมีความรักความห่วงใยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยผ่านกระบวนการกินอาหารและเหล้า 4 ขวดที่ผ่านพิธีกรรม โดยมีการแจกจ่ายให้ทุกคนได้กินอย่างทั่วถึง
โดยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตเหล้าที่ใช้ในพิธีไหว้หอเจ้าเมืองเพียง 4 ขวด ก็เพิ่มขึ้นมีการกินเหล้านอกงานพิธีมากขึ้น โดยชาวบ้านที่มาร่วมงานซื้อมากินสังสรรค์ บางครั้งก็มีการทะเลาะกัน
“แต่ก่อนเหล้าในพิธีมี 4 ขวดสามารถแจกจ่ายให้คนที่มาร่วมงานเป็นหลายร้อยคนได้กินกันอย่างทั่วถึงเพราะถือเป็นเหล้าศักดิ์สิทธิ์เจ้าเมืองให้ความคุ้มครองแต่เดี๋ยวนี้เหล้าที่ผ่านพิธีกรรมเมื่อแจกให้แล้วชาวบ้าน (พวกชอบดื่มเหล้า) บอกว่ากินไม่เมาต้องซื้อมาเลี้ยงกันอีก” พ่อปาง ปู่เมืองคนปัจจุบันกล่าว
ในปีนี้ทางโครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อการลด ละ เลิกเหล้า(สพล.) ร่วมกับคนในชุมชนได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นสร้างสำนึกให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของเหล้าในพิธีกรรมและผลกระทบที่เกิดจากการซื้อเหล้ามาดื่มกินในพิธีกรรม เมื่อชุมชนเริ่มตระหนักรู้จึงร่วมกันวางมาตรการที่จะรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า เช่น มีการขอความร่วมมือให้ร้านงดขายเหล้าในวันทำพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ร้านค้าที่ให้ความร่วมมือและขอให้คนที่มาร่วมพิธีกรรมงดซื้อเหล้ามาดื่มในพิธีซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมีหลายกลุ่มคนหนึ่งในนั้นคือปู่เมืองผู้ที่มีบทบาทสำคัญอันเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดพิธี เป็นบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อถือในคำพูด และความรู้ในพิธีกรรม เห็นได้จากในการทำพิธีกรรม ปู่เมืองจะต้องเป็นคนมีสัจจะ คำขอต่างๆ จึงจะศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีปู่เมืองจะเป็นผู้สื่อสารกับเจ้าเมือง สอบถามว่าเจ้าเมืองมาพร้อมกันหรือยัง เมื่อมาพร้อมกันแล้ว ปู่เมืองก็จะเป็นผู้สั่งให้ ทำการสังเวยไก่แก่เจ้าเมือง ในการสอบถามเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ปู่เมืองก็เป็นผู้ติดต่อกับเจ้าเมืองทั้งหมด
จะเห็นได้ว่า “ปู่เมือง” ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวไทใหญ่มีแนวทางการสอนลูกหลานด้วยการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ใช้ตัวเองเป็นสื่อในการสอน โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ แต่สอนด้วยการกระทำ เห็นได้จากพ่อป่าง จิ่งต่า ปู่เมืองวัย 69 ปี ปีที่ผ่านมาก็กินเหล้าบ้าน แต่ปีนี้งดไม่กินเหล้า เมื่อก่อนที่บ้านของปู่เมืองจะมีการเลี้ยงเหล้าหลังจากเสร็จงานแล้ว แต่ในปีนี้ก็ไม่มีเลย นับว่าเป็นต้นแบบสำคัญที่จะนำไปสู่การลด ละ เลิกเหล้า
และจากคำพูดของ พ่อนุ โพงจ่าม อายุ 62 ปี อดีตปู่เมือง ที่ทำหน้าที่มาถึง 7 ปี ได้บอกว่า ตนเองไม่กินเหล้ามา 15 ปี เข้าวัดถือศีลตลอด การเป็นปู่เมืองต้องเป็นที่พอใจของเจ้าเมือง ปู่เมืองต้องเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม เป็นซื่อสัตย์ มีสัจจะ “การเป็นหมอเมืองไม่ได้อะไรตอบแทน นอกจากได้บุญ”
การสอนให้คนอื่นทำความดี ลด ละ เลิกเหล้า ถ้าผู้นำ/แกนนำที่จะไปสอนคนอื่นไม่เป็นตัวแบบ/ตัวอย่างที่ดีแล้ว บางครั้งจะถูกย้อนถามว่าตัวเองสามารถที่จะ ลด ละ เลิกได้หรือยังสิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวแบบ
นับว่าประเพณีการไหว้หอเจ้าเมืองและเลี้ยงศาลเจ้าบ้านในปีนี้ช่วยบรรเทาสถานการณ์เรื่องเหล้าในประเพณีพื้นบ้านได้เป็นอย่างดีจากการที่โครงการปอยออกหว่าชาวไตใหญ่ไม่ดื่มเหล้าเข้ามารณรงค์แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของคนในชุมชน ที่ยังยึดขนบวิถีของบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็ยืนหยัดต่อต้านอบายมุขที่จะมามอมเมาพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาให้มัวหมอง เพื่อสร้างสังคมในหมู่บ้านของพวกเขาให้เป็นชุมชน “ไท” ปลอดเหล้าในที่สุด
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 21-08-51