ไวรัส RSV ของฝากที่มาพร้อมกับปลายฝนต้นหนาว

ที่มา : แนวหน้า


 thaihealth


แฟ้มภาพ


คนทั่วไปอาจยังไม่คุ้นหูกับคำว่าเชื้อไวรัส RSV เท่าไรนัก คนที่รู้จักไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครอง นั่นก็เพราะ RSV คือเชื้อไวรัสสุดฮิตที่เกิดขึ้น ในหมู่เด็กเล็กเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะหากพลาดไปสักนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้


อ.พญ.โสภิดา บุญสาธร สาขาวิชา โรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ไวรัส RSV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบ ทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก


สำหรับสาเหตุและการติดเชื้อไวรัส RSV ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็กๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะ เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน


เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง


แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมากๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะเกิดภาวะรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้


ส่วนวิธีการป้องกัน ผู้ปกครองสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในบุตรหลานได้โดยการพยายามให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยในที่ที่ คนพลุกพล่าน ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็ก ดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะออกจากร่างกาย แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยัง ไม่หย่านม ก็สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่างๆ ของเด็กแต่ละคน ไม่ควรใช้ร่วมกัน


วิธีสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้น ใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจาก ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้ คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณา ปัจจัยอื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจ เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะ อย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอย อักเสบ


สำหรับวิธีรักษาเบื้องต้นไวรัส RSV ไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ รักษาประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดไข้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของหลอดลมตีบ ก็อาจจะมีการให้ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ

Shares:
QR Code :
QR Code