‘ไลเคน’ นักสืบคุณภาพอากาศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สารคดี
หากมีโอกาสสังเกตบริเวณผิวนอกของต้นไม้ บางครั้งเราจะพบรอยด่างเล็กๆ ที่เปลือกนอกของมัน คล้ายต้นไม้ต้นนั้นไม่สมบูรณ์หรือเป็นโรคอะไรบางอย่าง แต่ความจริงแล้ว นี่คือโลกของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกกันว่า "ไลเคน"
ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด คือ เห็ดรากับสาหร่าย รูปแบบการพึ่งพาของพืชสองชนิดนี้คือ เห็ดราใช้ความชื้นและก๊าซออกซิเจนจากสาหร่ายในการดำรงชีวิต ส่วนสาหร่ายก็ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเห็ดรา ในการสังเคราะห์แสง แม้ไลเคนจะอยู่ได้ในทุกภูมิอากาศของโลก ตั้งแต่หนาวจัดยันทะเลทราย แต่เรื่องที่มันทนไม่ได้กลับเป็นมลภาวะในอากาศ นั่นเพราะผิวของไลเคนเป็นเพียงเส้นใยของเห็ดรา มันจึงซับความชื้นและแร่ธาตุอาหารผ่านผิวเส้นใยเข้ามาโดยตรง มลพิษในอากาศจึงง่ายต่อ การเข้าไปสะสมในไลเคนได้ง่าย และ เมื่อสะสมมากๆ เข้าก็ทำลายคลอโรฟิลล์ของสาหร่าย สุดท้ายก็ด่างดำ และ อาจจะตายในที่สุด ดังนั้นไลเคนจึง เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศได้เป็น อย่างดี
เมื่อเครือข่ายนักสืบสายลม มูลนิธิโลกสีเขียว ได้สำรวจคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ไลเคนเป็นตัว ชี้วัด ก็พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพฯ มีคุณภาพอากาศแย่ถึงแย่มาก และมีถึง 12 พื้นที่ ที่มนุษย์ไม่ควรอยู่ เพราะบริเวณนั้นพบไลเคนที่อยู่ในกลุ่ม "ทนทานสูง" เป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งสวนสาธารณะ อย่างเช่น สวนรถไฟก็พบไลเคนก็อยู่ในกลุ่ม "ดีพอใช้"
จากความรู้เรื่องไลเคนนี่เอง ทำให้แกนนำชุมชนและโรงเรียนบ้านมาบช้างนอน ต.น้ำเป็น อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ทำโครงการชื่อ "นักสืบคุณภาพอากาศเพื่อ สุขภาวะชุมชน" โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำกิจกรรมสำรวจชุมชน เพื่อทำแผนที่สภาพอากาศ โดยใช้ไลเคนเป็นตัวชี้วัด
สุรศักดิ์ ขุมทอง หัวหน้าโครงการนักสืบคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาวะชุมชนบ้านมาบช้างนอน บอกว่า กิจกรรมที่ทำจะสร้างการมีส่วนร่วมกับคนทุกกลุ่มในชุมชน ประกอบด้วย ครู นักเรียน แกนนำเยาวชน และ พ่อแม่ผู้ปกครอง จะร่วมกันสำรวจพื้นที่ในชุมชน แล้วนำมาประเมิน คุณภาพอากาศแต่ละจุดว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะร่วมกันทำแผนที่อากาศของ ชุมชน
จากการสำรวจพบว่าคุณภาพอากาศของบ้านมาบช้างนอน มีคุณภาพอากาศดีพอใช้ และที่สำคัญข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนี้ ชาวบ้านได้นำไปต่อสู้ เพื่อปกป้องชุมชนจากความพยายามในการสร้างฟาร์มไก่ของกลุ่มทุน ที่เตรียม จะเลี้ยงไก่ประมาณ 500,000 ตัว มีมูลไก่วันละ 60 ตัน ใช้น้ำวันละ 150,000 ลิตร เมื่อข้อมูลสภาพอากาศได้ส่งต่อไปถึงชุมชน จึงเกิดการตื่นตัว และปฏิเสธ ฟาร์มไก่ในที่สุด
"เมื่อชาวบ้านรับรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว ก็เกิดการตระหนักว่าถ้าวันหนึ่งชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง เปิดหน้าต่างแล้วมีกลิ่นขี้ไก่ปะทะจมูกจะรู้สึกกันอย่างไร ดังนั้นข้อมูลสภาพอากาศจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและรักชุมชนตัวเองมากขึ้น" สุรศักดิ์ กล่าว
แม้พื้นที่ของหมู่บ้านมาบช้างนอน จะอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา มลพิษทางอากาศไม่น่าจะมีมากเหมือนในเมือง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไลเคนบางชนิดอยู่ไม่ได้ เช่น ไลเคนพาสต้าเส้นแบน ซึ่งเป็นไลเคนในกลุ่มอ่อนไหวต่อมลพิษสูง ก็พบได้เพียงแห่งเดียวคือในสวนเกษตรผสมผสาน ที่มีพืชผลขึ้นอย่างหนาแน่น ส่วนริมถนนในหมู่บ้านจะพบไลเคนกลุ่ม "ทนทาน" เช่น ลายเส้นผลรวม ร้อยเหรียญ พริกไทยร้อยเม็ด ฯลฯ ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ชื่อไลเคนที่ดูจะประหลาด มาจากรูปร่างที่พบเห็นว่ามี รูปร่างหรือสีสันคล้ายอะไร ก็เรียกไป ตามนั้น แต่ก็เป็นสิ่งดี เพราะเด็กๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ จะจดจำ และสนุกสนานกับการสังเกต
ณัชปภา เรืองศรี คุณครูโรงเรียนบ้านมาบช้างนอน ที่ชวนเด็กและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน เล่าว่า เมื่อเด็กๆ ได้ลงพื้นที่จริง ก็จะเกิดการตื่นตัว เหมือนแข่งกันว่า "ฉันรู้นะ นี่หมายถึงอะไร" เป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะ ฝึกการสังเกต ช่วยให้เด็กๆ เกิดความตระหนักว่า ถ้าไลเคนชนิดนี้ มากขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพอากาศในชุมชน จะเป็นแบบไหน
"กิจกรรมนี้เหมือนเริ่มให้เด็กๆ รักบ้านตัวเองก่อน ให้เขารู้ว่าชุมชนของตัวเองเป็นแบบไหน ให้เขาตระหนักถึง ถ้าเขารักตรงนี้แล้ว เชื่อว่าไป ที่ไหนเขาก็รัก"
พนิดา วงศ์จันทร์ นักศึกษาปี 3 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ชาวมาบช้างนอน เยาวชนแกนนำ บอกว่า หลังจากกิจกรรมนี้เกิดขึ้น พบว่าชาวบ้านไม่ค่อยเผาขยะ ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปฝังบ้าง ขนไปกลบโคนต้นไม้บ้าง ส่วนเด็กๆ จะกระตือรือร้นช่างสังเกต มากขึ้น และชี้ชวนให้คุณพ่อคุณแม่ ดูไลเคนที่ตัวเองรู้จัก
คุณูปการของไลเคน นอกจากจะ ชี้วัดคุณภาพอากาศแล้ว ยังกระตุ้น การเรียนรู้ และสร้างความตระหนักสำนึกรักในชุมชน ดังที่เกิดขึ้นกับ บ้านมาบช้างนอน