ไม้เรียว รีเทิร์น

 

ไม้เรียว รีเทิร์น
         
เริ่มซีรีส์พิเศษ “ด้วยรักและไม้เรียว” ด้วยเรื่องไม้เรียว ชวนมองเจ้าไม้เล็กๆ ว่าสร้างคนหรือสร้างความรุนแรง จะหักหรือจะคืนให้ครู รู้ไปพร้อมๆ กัน เสียงปลายไม้กระทบเนื้อผ้า ภาพเด็กนักเรียนที่ทรุดตัวไปตามแรงหวดยามผิวเนื้ออันบอบบางปะทะกับความโกรธเกรี้ยว ไม่เพียงปรากฎเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ยังอาจทำให้ผู้ใหญ่หลายคนหวนระลึกถึงความรู้สึกเก่าๆ บ้างก็นึกขอบคุณ “ไม้เรียว” ที่ทำให้ตนเองผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อมาได้ แต่อีกไม่น้อยเหมือนกันที่บาดแผลในใจยังไม่หายดี
 
ข้อถกเถียงเรื่องการใช้ไม้เรียวในสถานศึกษา กลับมาเป็นโจทย์ให้สังคมได้ขบคิดอีกครั้ง หลังภาพการตีเด็กนักเรียนอย่างรุนแรงถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งที่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาปี พ.ศ.2548 จะไม่อนุญาตให้ครูเฆี่ยนตีเด็กได้ตามอำเภอใจ เกือบ 6 ปี กับมาตรการหักไม้เรียวครู ดูเหมือนว่าความจริงที่ปรากฏ นอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังแล้ว ยังทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งยืนยันให้เลิกการเฆี่ยนตีอย่างเด็ดขาด ขณะที่อีกกลุ่มเรียกร้องให้นำไม้เรียวกลับมาใช้อีกครั้ง
 
จริงหรือที่ไม้เรียว คือ “พระเอก” ในระบบการศึกษาไทยที่สร้างคนมานักต่อนัก และเป็นความจริงแค่ไหนที่ไม้ในมือครูนั้นคือ “ตัวการร้าย” ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เรื่องนี้ต้องมองอย่างรอบด้าน
          
คืนความรักให้ศิษย์
 
เมื่อไม่นานมานี้ สวนดุสิตโพลได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการลงโทษเด็กด้วยไม้เรียว พบว่า 52.03 เปอร์เซ็นต์ เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะจะทำให้เด็กหลาบจำ ไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก ส่วนอีก 44.57 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าเป็นผลเสีย เนื่องจากส่งผลต่อจิตใจทำให้เด็กกลัว อายเพื่อน 
 
น่าสนใจว่าทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างเชื่อว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของไม้เรียว คือทำให้เด็กกลัว ซึ่งสมควรตั้งข้อสงสัยต่อไปอีกว่า ความกลัวและยอมจำนนต่ออำนาจนั้น ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะใช้วิจารณญาณแยกแยะ ถูก ผิด ดี เลว ได้หรือไม่
          
ถ้าคำตอบคือ “ไม่ได้” สิ่งที่น่ากังวลมากขึ้นไปอีก คือในกรณีของเด็กที่รู้สึกว่าตนเองถูกตีอย่างไม่เหมาะสม เช่น เด็กที่มาโรงเรียนสายเพราะต้องช่วยพ่อแม่ขายของ เด็กที่ใส่เครื่องแบบผิดระเบียบเพราะไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ จะเกิดผลอย่างไร
 
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ และหัวหน้าโครงการติดตามสภาวะการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (child watch) โดยการสนับสนุนของ สสส.และ สกว. แสดงความเห็นว่า ตามหลักวิชาการแล้ว เรื่องการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ลำพังไม้เรียวอย่างเดียวย่อมไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้
 
“บางทีอาจเกิดปัญหาตามมาด้วยซ้ำ เช่น เด็กที่ถูกใช้ความรุนแรงก็จะรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องยอมรับได้ ในโรงเรียนถ้าครูใช้ไม้เรียวนำ เอะอะอะไรก็ตีตีตี หวดกันหน้าโรงเรียนบ้าง หน้าเสาธงบ้าง มันทำให้บรรยากาศการเรียนในโรงเรียนของเด็กบางคนเป็นบรรยากาศของความกลัว คนที่เรียนอยู่ภายใต้ความกลัวอย่างเดียวมันก็ไม่ดีเหมือนกัน และประการสุดท้าย การตี อย่างที่เคยเกิดเหตุมาแล้ว บางทีไม่ได้ตีด้วยเหตุผล ตีด้วยอารมณ์ ลุแก่โทสะก็มี” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
 
ในมุมนี้ แม้ไม้เรียวจะสร้างคนมาเยอะ แต่ถ้าครูไม่รักและเข้าใจเด็กจริงๆ ไม้เรียวก็ทำลายคนได้เหมือนกัน ถือเป็นดาบสองคมที่ต้องระวัง 
 
ไม่ต่างจากความเห็นของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นพ.สุริยเดว ทรีปาตี มองว่า ไม้เรียวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลงโทษอีกหลายรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก
 
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
 
“การสร้างรอยแผลบนหัวใจของเด็ก เพื่อสยบพฤติกรรมบางอย่าง ถามว่ามันคุ้มกันมั้ย มันไม่คุ้มแน่ เด็กจะเกิดบุคลิกลักษณะได้สองแบบคือ เก็บกด ก้าวร้าว มันมีกลไกทางจิตขึ้นมาปกป้องตัวเอง ยิ่งถ้าทำด้วยความรุนแรงมากเท่าไหร่ ความหวาดกลัวที่เด็กมีก็จะทำให้เด็กหยิบกลไกทางจิตมาใช้ เช่น มีการกล่าวโทษ หรือไม่พูดความจริง บางคนอาจเก็บกดและไปแสดงความก้าวร้าวกับคนอื่น เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบใช้อำนาจ ที่สำคัญคือ ถ้าเขาเอาบุคลิกลักษณะนี้ไปเลี้ยงลูกต่อ ก็จะเป็นการส่งต่อความรุนแรงต่อไปอีก” นพ.สุริยเดว กล่าว
 
คุณหมอตั้งข้อสังเกตว่า แม้ไม้เรียวจะเคยใช้ได้ผลในอดีต แต่วันนี้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก หากเราต้องการเห็นเด็กไทยกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น มีความเป็นประชาธิปไตย ก็ควรจะเลือกเส้นทางหรือวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น ที่สำคัญต้องมองบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทุกวันนี้คนหุนหันพลันแล่นมากขึ้น เทคโนโลยีทำให้วงจรชีวิตอยู่ในภาวะเครียด โอกาสที่จะใช้ไม้เรียวในทางที่ผิดย่อมมีมาก
 
“เมื่อเกิดภาวะเครียด สมองก็ล้าในการที่จะจัดการกับปัญหาบางอย่าง ทำให้ต้องตัดสินด้วยความรวดเร็ว แล้วสมัยนี้ครูจำนวนไม่น้อยก็อาจจะขาดจิตวิญญาณของความเป็นครูจริงๆ การตีจึงน่าจะมีผลเสียมากกว่า”
        
ดังนั้นแทนที่จะให้ความสำคัญกับการ “ใช้” หรือ “ไม่ใช้” ไม้เรียว สิ่งที่สังคมน่าจะช่วยกันเรียกร้องให้กลับคืนมา คือจิตวิญญาณความเป็นครู ที่เปี่ยมไปด้วยความรักและความเมตตาต่อศิษย์
 
“อย่าลืมว่าความเป็นพ่อแม่ ความเป็นครู เมื่อมีความรักส่งผ่านแล้วมานั่งคุยกัน มาสร้างกติกาที่ยอมรับร่วมกัน บนฐานของสัมพันธภาพที่ดี ความรักที่ดี มีกระบวนการขั้นตอนในกรณีที่เด็กทำความผิดก่อนจะไปถึงการตี อย่างนี้เด็กก็จะยอมรับและไม่เกลียดครู”
          
เพราะ “เด็กแพ้ทางความรักของครูเสมอ” ดร.อมรวิชช์ ยืนยันในเรื่องนี้
 
คืนครูให้ชั้นเรียน
 
ไม่ใช่เรื่องยากหากจะคืนไม้เรียวให้คุณครู หรือหักมันทิ้งโดยการออกกฎระเบียบที่ชัดเจน แต่นั่นย่อมไม่อาจรับประกันคุณภาพของเยาวชนไทย ไม่ว่าจะในทางสติปัญญา หรือคุณธรรมจริยธรรม
 
น.พ.สุริยเดว หัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำว่า ครูควรหันมาใช้การสร้างวินัยเชิงบวกให้มากขึ้น
          
“วินัยเชิงบวกไม่ได้หมายถึงการตามใจเด็ก แต่หมายความว่าให้ฟังเสียงเด็ก โดยหนึ่งคือการวางกติการ่วมกัน สองต้องมีเทคนิคในการจัดการกับปัญหาอย่างหลากหลาย โดยมีบันไดขั้นแรกคือ การวางเป้าหมายระยะยาว และพัฒนาเด็กไปตามเป้าหมายนั้น สอง สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย สาม ต้องรู้วุฒิภาวะของเด็ก รู้เรื่องพัฒนาการของเด็กซึ่งแตกต่างกันไป ซึ่งจะทำให้การกำหนดเป้าหมายสอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ยัดเยียดหรือทำร้ายเด็ก”
          
ในมุมมองของจิตแพทย์ที่คลุกคลีกับปัญหาวัยรุ่นมานาน นพ.สุริยเดว มองว่าวินัยเชิงบวกคือกระบวนการ ไม่ใช่เป็นการลงโทษอย่างเดียว
 
“หมอใช้คำว่าอย่างเดียว แสดงว่ามีการลงโทษได้ แต่ต้องอยู่บนฐานสามข้อแรก แล้วก็บวกกับการใช้เทคนิคจริยธรรม” วิธีการนี้แม้จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่ในมุมของนักการศึกษา ยังมีเงื่อนไขที่ต้องปลดล็อกให้ได้ก่อน นั่นคือภารกิจของครูที่เบียดบังเวลาจากห้องเรียน
 
ดร.อมรวิชช์ ขยายความชัดๆ ว่า ยิ่งปฏิรูป ครูยิ่งมีเวลาให้เด็กน้อยลง เพราะ ครูมัวแต่ไปทำผลงานขอวิทยฐานะ คอยทำรายงานรองรับการประเมินจากภายนอกบ้าง อะไรบ้าง จนกระทั่งเวลาที่จะอยู่กับเด็กมันไม่มี อีกประการหนึ่งคือ หลังๆ เราได้ครูซึ่งหัวใจไม่ใช่ครู วิญญาณครูที่จะรักเด็ก เมตตาเด็ก ใส่ใจเด็กมันไม่มี ประเด็นนี้สำคัญ
 
ย้ำอีกครั้ง!! ว่า “เด็กจะแพ้ทางที่ความรักของครู เพราะเด็กถ้าถูกเหวี่ยงออกมาจากบ้าน พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ เขาจะหิวความรักจากผู้ใหญ่ ถ้าครูให้ความรักความเข้าใจ มีพื้นที่ดีๆ ให้เด็ก ผมว่าไม้เรียวแทบจะไม่จำเป็นเลย แม้แต่เด็กที่มันเกเร บางทีครูเอาอยู่หมัดเลยด้วยความรักอย่างเดียว คือใส่ใจ รักเขา ยอมรับเขา คืนศักดิ์ศรีให้เขา ไม่มองว่าเขาเป็นเด็กไม่เอาถ่าน เป็นเด็กหลังห้อง แต่มองว่าเขาก็เป็นเด็กที่มีคุณค่า คอยให้กำลังใจเขา”
 
“ครูอย่างนี้ไม่ต้องใช้ไม้เรียว แค่ส่งสายตาผิดหวังให้เห็นนิดหนึ่ง เด็กก็ช้ำใจแล้ว เพราะเขาไม่อยากทำให้ครูเสียใจ”ไม้เรียวในมือครู จึงเทียบกันไม่ได้เลยกับความรักที่อยู่ในหัวใจ แต่ทั้งนี้ ดร.อมรวิชช์ เรียกร้องว่าต้องลดภาระที่ไม่จำเป็นลงบ้างเพื่อให้ครูมีเวลามากขึ้น ตอนนี้นโยบายคืนครูให้ศิษย์ ผมว่าสำคัญ หาเจ้าหน้าที่ธุรการมาทำงานแทนบ้าง ไอ้เรื่องวิทยฐานะถ้ายกเลิกซะได้ก็ดี เพราะว่ามันไม่ได้ก่อประโยชน์สักเท่าไรเลย นอกจากทำให้ครูเป็นอาจารย์ 3 เป็นอะไรต่ออะไรกันมากขึ้น แต่ว่าเด็กกลับมีพฤติกรรมเลวลง เด็กกลับได้รับการดูแลเอาใจใส่น้อยลง”
          
ที่สำคัญสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปคือ องค์กรที่ผลิตครู ต้องเตรียมครูรุ่นใหม่ให้เข้าใจจิตวิทยาเด็ก รู้จักการปรับพฤติกรรมเด็กอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องการคุมชั้นเรียน เรื่องตัดแต้มความประพฤติซึ่งไม่ได้ผลอะไรเลย
 
คืนไม้เรียวให้ครู
 
ไม้เรียว รีเทิร์น
 
แม้นักจิตวิทยาจะมองว่า ไม้เรียว สามารถสร้างบาดแผลในใจได้ล้ำลึก นักการศึกษาเห็นว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเท่าไหร่นัก แต่ในมุมของครูที่ต้องดูแลเด็กจำนวนมาก การมีไม้เรียวในมือก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน
 
คุณพวงทิพย์ หมุยจินดา ครูโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร ข้าราชการดีเด่นกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2539 เล่าประสบการณ์ว่า หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การศึกษาเกี่ยวกับการลงโทษ ได้นำพฤติกรรมของเด็กนักเรียนทั้งสองช่วงมาเปรียบเทียบดู พบว่าเด็กนักเรียนในช่วงที่ใช้ไม้เรียวนั้นมีระเบียบวินัย เชื่อฟัง และมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่มากกว่า
 
“แต่การลงโทษด้วยไม้เรียวเป็นดาบสองคม ขึ้นอยู่กับตัวครู ซึ่งจะต้องใช้อย่างเหมาะสม ยังมีวิธีการลงโทษอีกหลายวิธีที่สามารถนำมาใช้ได้ สำหรับตัวครูซึ่งสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ช่วงเวลาพักกลางวันนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กที่จะได้วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ครูก็จะใช้ตรงนี้เป็นเงื่อนไข ถ้าหากเด็กทำงานไม่เสร็จ ไม่ส่งงาน ครูก็จะให้ทำงานในช่วงพักกลางวัน เด็กก็จะไม่ได้ไปวิ่งเล่น พอเขาเหม่อแอบดูเพื่อนๆ ที่วิ่งเล่น เราก็จะสอนเขาเรื่องความรับผิดชอบ ผลที่ตามมาคือ เขาจะรู้สึกกลัวว่าจะอดไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ดังนั้นเขาก็จะรีบทำงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด พอทำแบบนี้บ่อยครั้ง เด็กก็จะรู้จักเลือกเส้นทางแห่งความสุขของเขา”
 
สำหรับการเสนอให้มีการนำไม้เรียวกลับมาใช้อีกครั้ง ดร.อมรวิชช์ ให้ความเห็นว่า แม้โดยหลักการจะไม่ถูกต้อง แต่ถ้าดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เช่น ครอบครัวซึ่งปล่อยปละละเลย ไม่ได้ให้ทั้งความรักและการอบรม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและสิ่งยั่วยุ ไม้เรียวก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง
 
“ผมเห็นด้วยหากจะนำไม้เรียวกลับมาใช้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม้เรียวน่าจะเป็นมาตรการสุดท้าย ครูควรจะมีมาตรการอื่นมาก่อนนั้น และต้องเข้าใจว่าปัญหาเด็กทุกวันนี้มาจากอะไรบ้าง ไม่ใช่ตีพร่ำเพรื่อ เรื่องสำคัญคือ ต้องให้รู้ว่ายังมีวิธีการปรับพฤติกรรมเด็กแบบอื่นๆ อีกเยอะที่ไม่ใช้กำลัง เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ ทำงานกับผู้ที่ด้อยโอกาส พวกนี้จะช่วยทำให้เขาเห็นคุณค่าของชีวิต คุณค่าของการช่วยเหลือคนอื่น แล้วบางทีความก้าวร้าวก็ถูกทดแทนด้วยความรู้จักเมตตา รู้จักมีน้ำใจให้คนอื่น โดยไม้เรียวจะในกรณีที่ใช้วิธีการอื่นไม่ได้ผลแล้วจริงๆ”
 
ทั้งนี้ หากจะมีการแก้กฎระเบียบให้ครูสามารถใช้ไม้เรียวได้ จำเป็นจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างรัดกุม
          
“กฎกระทรวงต้องเขียนให้ชัดว่าเจตนารมณ์คืออะไร แล้วไม้เรียวมันควรเป็นมาตรการสุดท้ายอย่างไร ต้องมีกติกากำกับ เช่น อาจารย์ฝ่ายปกครองตีได้เท่านั้น ขนาดไม้จะเป็นเท่าไหร่ แล้วต้องมีขบวนการ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า มาก่อนนั้นนะ ที่สำคัญโรงเรียนต้องเปิดกว้าง ดึงครอบครัว ชุมชน สังคมเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาด้วย”
 
ไม้เรียวรีเทิร์น จึงควรเป็นสัญลักษณ์ในการคืนอำนาจให้ครูในการดูแลเด็กมากกว่า ซึ่งต้องใช้อย่างมี “ปัญญา” และ “เมตตา” เป็นตัวกำกับ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม้เรียว ไม่ใช่ทั้งพระเอกและผู้ร้าย หากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรุนแรงในระบบการศึกษาไทย และเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความรุนแรงในสังคมไทย การหักไม้เรียว โดยไม่แก้ปัญหาในส่วนอื่นๆ ย่อมไม่เกิดผลดีอย่างที่หวัง ขณะเดียวกัน การคืนไม้เรียว โดยไม่คำนึงถึงสภาพสังคมและกรอบกติกาที่ชัดเจน ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่คิด
          
 
 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ชุติมา ซุ้นเจริญ
 
Shares:
QR Code :
QR Code