ไม่ อ้วน…ได้ยังไง? เด็กไทยกินผัก 1-2 ช้อน/วัน
ปัญหาของเด็กไทยอีกหนึ่งปัญหาที่พ่อแม่หลายคนกุมขมับ เป็นปัญหา “ความอ้วน” ของลูกน้อย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจับมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดกิจกรรม “เรียนรู้ – ร่วมสร้าง…โภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก” ขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่มาล้อมวงพูดคุยกันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทยได้รับการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องโภชนาการ เพราะทุกวันนี้เด็กไทยมักไม่ได้ทานอาหารเช้า หรือทานอาหารเช้าที่ขาดคุณภาพ บ้างก็ทานอาหารเช้าไม่พอ นอกจากนี้ เด็กหลายคนได้ทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพต่ำ หลายคนทาน – ดื่ม อาหารว่างที่ หวาน – มัน หรือเค็มจัด เด็กจำนวนมากปฏิเสธกินผัก และละทิ้งอาหารไทย
“ฟังแล้วใจหาย พร้อมกับมองเห็นอนาคตอันใกล้ว่าประเทศไทยกำลังผลิตผู้ใหญ่ในอนาคตที่เป็นโรคอ้วนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว” อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการเชี่ยวชาญโภชนาการ และผู้จัดการศูนย์ประสานงานโภชนาการสมวัย เปิดเผยข้อมูลว่า เด็กไทยวัยเรียน เดินมา 10 คน จะมีรูปร่างอ้วน หรือท้วมๆ ประมาณ 2-3 คน เด็กจำนวนมากขาดไอโอดีนและธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลทำให้ไอคิวต่ำ เด็กไทยวัยเรียน ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบเป็นประจำ
“เด็กไทยจ่ายเงิน 1 แสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยคนละ 9,800 บาทต่อปี เพื่อซื้อขนมด้อยคุณค่า ในขณะที่จ่ายเงินเรียนหนังสือเพียง 3,024 บาท เด็กไทย 1 ใน 3 กินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ และเด็กไทยจำนวนมากกิน ผัก ผลไม้ ไม่พอ เด็กควรกินผักวันละ 12 ช้อน แต่เด็กไทยกิน 1-2 ช้อนเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลน่าสนใจ คือโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม และขนมจะมีเด็กอ้วนเป็น 1.5 เท่าของโรงเรียนที่ไม่ได้รับ และโรงเรียนที่จำหน่ายน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานจะมีเด็กอ้วนเป็น 2 เท่า ของโรงเรียนที่ไม่ได้จำหน่าย
“สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ระยะเวลาที่ห่างกันเพียง 5 ปี เด็กไทยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 18 และประเทศไทยใช้เงินจำนวน 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคหัวใจหลอดเลือด” อาจารย์สง่าเผย
การสร้างโภชนาการสมวัยตั้งแต่วัยเด็กจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และมองข้ามไปไม่ได้เลย
อาจารย์สง่าบอกว่า ถ้าเราจะพัฒนาประเทศของเรา เราต้องมองคนก่อน ซึ่งเมื่อพูดถึงคำว่า “มองคน” ก็ไม่อยากให้มองการศึกษามาเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองไปไกลกว่านั้นว่าจะเตรียมคนอย่างไรให้พร้อมที่จะเข้าไปรับการศึกษา
“เราต้องไม่ลืมว่าการที่เด็กจะเขียน ก.ไก่เป็น หรือนับเลข 1-100 ได้ สมองเด็กต้องไปก่อน สมองเด็กต้องดี เด็กต้องมีความพร้อม และการที่จะทำให้เด็กมีความพร้อมได้รัฐบาลต้องกล้าลงทุนด้านโภชนาการ ต้องกล้าลงทุนที่จะให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ต้องกล้าเอาเงินมาลงทุนที่จะสร้างเด็ก และต้องกล้าพอที่จะเอาแผนด้านโภชนาการเป็นวาระแห่งชาติ”
อาจารย์สง่าบอกอีกว่า ตอนนี้การแก้ไขปัญหาโภชนาการนั้นจะทำเพียงด้านใดด้านเดียวไม่ได้ รัฐบาลจะออกมาประกาศนโยบายที่จะทำให้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพ หรือดูแลด้านโภชนาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากให้เด็กกินขนมกรุบกรอบที่ดีมีคุณภาพ รัฐบาลหรืออุตสาหกรรมอาหาร ต้องกล้าพอที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติขนมเด็กให้ขนมเด็กเป็นขนมที่ “เป็นมิตรต่อสุขภาพ” “คำว่าเป็นมิตรต่อสุขภาพก็คือ ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มมากจนเกินไป และมีพลังงานพอดีๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจืดชืดจนเด็กกินไม่ได้แต่ให้อยู่ในระดับที่เด็กสามารถรับได้ นอกจากนี้ ต้องคิดอีกว่าจะทำอย่างไรที่จะสอนเด็กให้มีภูมิคุ้มกันทางปัญญา ติดอาวุธทางปัญญาให้กับเขาว่า ก่อนซื้อขนมอ่านฉลากแล้วแยกแยะให้เป็นว่าขนมยี่ห้อใดดี ขนมประเภทใดที่ควรจะกินอย่างนี้ เป็นต้น”
“ถึงเวลาแล้วที่ทางรัฐบาลจะต้องออกมาดูแลเรื่องอาหารกลางวันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่จะให้มีคุณภาพ ครบ 5 หมู่ และมีผักผลไม้เป็นประจำ ถึงเวลาแล้วที่ต้องออกมาดูเรื่องเครื่องดื่มและอาหารว่างที่อยู่ในโรงเรียนต้องจริงจัง เพราะห่วงว่า เด็กไทยจะมีภาวะโภชนาการที่ล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน” อาจารย์สง่ากล่าว
สุดท้าย อาจารย์สง่าฝากทริคง่ายๆ มาให้กับเด็กๆ ทุกคนสำหรับเอาไว้ใช้เลือกซื้อขนมว่า หากมีขนมหลายยี่ห้อวางอยู่บนแผงให้ลองเอาขนมหลายๆ ยี่ห้อมาเปรียบเทียบกัน ในนั้นจะบอกว่ามีน้ำตาลกี่เปอร์เซ็นต์ มีน้ำมันกี่เปอร์เซ็นต์ มีโซเดียมกี่เปอร์เซ็นต์ ซองไหนที่มีสิ่งเหล่านี้ต่ำๆ เราเลือกเอาซองนั้น แต่ถ้าอันไหนที่เขียนว่า มีแคลเซียม มีวิตามิน a c ถ้าซองไหนมีเยอะ เลือกเอาซองนั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน