ไม่ประมาทหัวใจมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
ในปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีการตายเท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร1 แสนคน อุบัติเหตุทางถนนนอกจากจะกระทบต่อทั้งผู้ที่ประสบภัยแล้วยังมีผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล ซึ่งในปี 2559 WHO และ World Bank ได้ประเมินมูลค่าความสูญเสียทางถนนของประเทศไทยที่ 5 แสนล้านบาท
การจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงต้องถือเป็น "วาระแห่งชาติ"ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย จึงได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13นี้ ภายใต้แนวคิด "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน" Invest for Sustainable Road Safety ตามแนวทาง 5 เสาหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน 2.ถนนปลอดภัย 3.ยานพาหนะปลอดภัย4.ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และ 5.การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ
โดยมีการจัดเสวนาห้องย่อยในหัวข้อ ลงทุนเพื่อยานพาหนะปลอดภัย ในประเด็น "เทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่กับความปลอดภัยของยานพาหนะ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำข้อมูลในเชิงวิชาการมาร่วมฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและอุดช่องว่างของปัญหาด้านยานพาหนะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงพยายามผลักดันให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยของยานพาหนะมากยิ่งขึ้น
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงความสำคัญว่า ยานพาหนะปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญที่จะต้องลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ไม่ว่าจะเป็น รถสาธารณะ รถรับ-ส่งนักเรียน และยานพาหนะชนิดอื่นๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยที่จะมาช่วยเสริมทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณกรมการขนส่งทางบกที่เกาะติดและพยายามผลักดันในเรื่องนี้ โดยจะเห็นได้จากมาตรการความเข้มงวดในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ อย่างล่าสุดในเรื่องของการกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทติดตั้งระบบ GPS ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จ ที่เห็นได้ชัดเจนคือความเร็วเฉลี่ยดีขึ้น จำนวนอุบัติเหตุและการสูญเสียลดลง แต่ก็ยังอยู่ในช่วงที่ต้องกำกับติดตามเพื่อให้เกิดความเข็มงวด
ด้านนายอรรณพ หาญกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก อธิบายถึงบทบาทและหน้าที่เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยว่า การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่กรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่ยานพาหนะที่เป็นสาธารณะและรถที่มีขนาดใหญ่ โดยงานที่ผ่านมานอกจากมีการกำหนดมาตรฐานระบบรายงานผลตรวจสภาพรถ (ตรอ.) แบบออนไลน์,การรายงานผลการตรวจสภาพรถ,ขยายศูนย์ควบคุมระบบตรวจสภาพรถแล้วยังได้มีการกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภททุกคัน ทุกเส้นทาง ติดตั้งGPS Tracking มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 25 ม.ค.59 ที่ผ่านมาและให้ติดตั้งครบทุกคันภายในปี2560 นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกยังดำเนินงานในการกำหนดมาตรฐานที่นั่งผู้โดยสารจุดยึดที่นั่งและจุดยึดเข็มขัดนิรภัย, กำหนดมาตรฐานระบบห้ามล้อ ABS ทำควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานระบบหน่วงความเร่งรถ และมาตรฐานความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการบังคับใช้ในปี 2562 เป็นต้นไป
ในส่วนของนางสลักษณ์ พิสุทธิพัทธยา นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การจะกำหนดมาตรฐานขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของ สมอ. เท่านั้น แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อหาข้อตกลงและรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร
ไม่เพียงยานพาหนะสาธารณะและรถที่มีขนาดใหญ่เท่านั้นจักรยานยนต์ก็ถือเป็นพาหนะที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตทรัพย์สินมากที่สุดเช่นกันก็ต้องเข้าสู่มาตรฐานความปลอดภัยนี้ด้วย
หัวใจสำคัญประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องผลักดันให้เกิดความปลอดภัยคือความไม่ประมาท ถ้าผู้ขับขี่ยังขับรถโดยประมาทและไม่เคารพกฎจราจรก็ยากที่จะเห็นความปลอดภัยบนท้อง ถนนได้