ไม่ถึง 15 ปีอย่าขี่มอเตอร์ไซค์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ปั้นเยาวชนผลิตหนังสั้น ให้สื่อสารโดนใจ… บอกเพื่อนไป "น้อยกว่า 15 ปีอย่าคิดขี่มอเตอร์ไซค์"
"วัยรุ่น" ซึ่งอยู่ในวัยที่ยังขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์และการตัดสินใจต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิต ในหลายรูปแบบ
ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์คือ หนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นสูญเสียทรัพย์สิน ร่างกาย โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่มีความคึกคะนอง ชอบพฤติกรรมความเสี่ยง จนส่งผลให้นักขับมือใหม่ต้องเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง
โครงการ "เด็ก don't drive:15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์" ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เข้ามารณรงค์ไม่ให้ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียและปัจจัยเสี่ยงอื่นจากการขับขี่ของเด็ก เช่น การใช้ ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การชู้สาว โครงการจะมอบทุนสนับสนุนโรงเรียนจำนวน 80 แห่ง ใน 25 จังหวัด เพื่อสร้างเยาวชนแกนนำจัดกิจกรรมลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนตร์มาโรงเรียนและหลังเลิกเรียนในกลุ่มวัยรุ่น ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ ฝ่ายสื่อสารโครงการ กล่าวว่า จะให้อิสระกับทางโรงเรียนที่ได้รับทุนทั้ง 80 แห่ง ในการออกแบบกิจกรรมเพื่อรณรงค์สร้างความตะหนักในการลดอัตรา การขับขี่มอเตอร์ไซค์ในวัยก่อนอายุ 15 ปี เช่น การ ทำหนังสั้น ทำแผ่นพับ แผ่นสติ๊กเกอร์ หรือกิจกรรมเดินรณรงค์ หรือการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน เปรียบเสมือนการสื่อสารถึงปัญหาระหว่างเยาวชนด้วยกันเอง
"ทุกกระบวนการจะมีทีมพี่เลี้ยงไปช่วยสอน หรือการจัดอบรมเพิ่มทักษะให้ เช่น หากอยากจะทำหนังสั้น ก็จะไปช่วยสอนเรื่องของการใช้งานอุปกรณ์ การเขียนพล็อตเรื่อง การตัดต่อ เพื่อให้พวกเขามีสื่อที่คิดว่าจะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ขณะที่หนังสั้นเองจาก การวิเคราะห์เครื่องมือชนิดนี้พบว่าเป็นสื่อที่หยิบไปใช้ได้ง่าย ตรงกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสาร สามารถนำไปใช้เป็นสื่อ เผยแพร่ภายในโรงเรียนได้ในหลายโอกาส" หนังสั้นฝีมือนักเรียนเพื่อช่วย ตักเตือนเพื่อนๆในการขับขี่ และลดจำนวนผู้ขับขี่หน้าใหม่จึงมีออกมาหลายเรื่อง หลายรูปแบบ หากแต่ได้ประโยชน์ตรงตามเป้าหมายเดียวกัน เช่น ที่โรงเรียนบ้านชำฆ้อ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง สาคร ก้อนนาค ครูโรงเรียนบ้านชำฆ้อ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง บอกว่า การทำหนังสั้นจะช่วยให้การรณรงค์ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไปพูดหรือการสอนเพียงอย่างเดียว นั่นเพราะเมื่อเด็กได้เห็นภาพว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง พวกเขาจะเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และในช่วงแรกๆ ของโครงการจะ มุ่งเน้นให้เด็ก ทุกคนมีส่วนร่วมกับการรณรงค์นี้ใน รูปแบบต่างๆกัน เช่น เด็กประถมฯ ก็จะเป็นการวาดรูป ระบายสี ส่วนเด็กมัธยมฯ หรือโตขึ้นมาหน่อยก็เป็น การเดินรณรงค์ แต่งคำขวัญ ทำป้าย แผ่นพับ ป้ายไวนิล เวลามีกิจกรรมของทางโรงเรียนจะเอาไปรณรงค์ ร่วมด้วย
ส่วนที่โรงเรียนบ้านบึงมนูญวิทยาคาร ซึ่งเป็นโรงเรียนหนึ่งที่ โดดเด่นด้านการทำ หนังสั้นเพื่อการรณรงค์ "15 ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์" ควบคู่กับการทำสื่อประเภทโปสเตอร์ ป้ายไวนิล ที่ใช้เผยแพร่ในหลายๆ งานกิจกรรมของโรงเรียน
วาสนา มันทะกะ นักเรียนผู้ร่วมกิจกรรม เล่าว่า พล็อตเรื่องเรื่องหนังสั้น ที่ได้ผลิตไปจะมุ่งเน้นไปที่การแสดงให้เห็นปัญหาในรูปแบบ "พ่อแม่รังแกฉัน" นั่นคือ การตั้งคำถามว่าพ่อแม่ใช้ลูก ขับมอเตอร์ไซค์ไปซื้อของเป็นการรังแกลูกทางอ้อมหรือไม่ และยิ่งถ้ามีกรณีลูกเกิดอุบัติเหตุ เกิดการสูญเสียด้วยแล้ว ก็ควรจะกลับมาตั้งคำถามว่าเราควรมีการขับขี่อย่างไร หรือมีแนวทางใดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ยังมีอายุน้อยได้ขับขี่
"เราจะพยายายามขยายผลโครงการ "15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์" ไปยังโรงเรียนใกล้เคียง โดยเราจะเข้าไปจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน ซึ่งจากการจัดภายในโรงเรียนที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับดีมาก เช่น กิจกรรมไบค์แรลลี่ น้องๆ จะชอบ เพราะสนุกสนาน ได้หาความรู้ได้หา คำตอบในแต่ละฐาน กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีหนังสั้นเป็นสื่อหลัก ก่อนจะเคลื่อนไปยังกิจกรรมอื่นๆ" วาสนากล่าวและว่า หากใครอยากชม ผลงานหนังสั้นของเธอ และเพื่อน ที่ชื่อเรื่อง "วัยไม่ถึงอย่างเพิ่งตาย" สามารถรับชมได้ทาง www.youtube.com/watch?v=yweMSThK_ZY&feature=share
การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้คิดได้ลงมือทำ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของวัยรุ่นสู่วัยรุ่นด้วยกันเอง จึงน่าจะช่วยให้การณรงค์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ประสบผลสำเร็จ ได้ลองอะไรใหม่ๆ บ้าง หลังจาก ฟังมุมมองผู้ใหญ่มานักต่อนักแล้ว