ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ สู้โควิด-19

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก อินโฟกราฟิก 7 วิธีคิด ยินดีต้อนรับ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตราผู้ที่อาจติดเชื้อ/ผู้ติดเชื้อโควิด-19


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ สู้โควิด-19  thaihealth


“ชาวบ้านประท้วง ไม่ต้อนรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว หวั่นยังมีเชื้ออยู่”


“แท็กซี่ติดเชื้อรายแรก เปิดใจถูกผู้โดยสารปฏิเสธต่อหน้า เหตุกลัวติดโควิด-19”


 “เร่งทำความเข้าใจ ชุมชนตั้งข้อรังเกียจผู้ป่วยหายโควิด”


นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวในสังคมออนไลน์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า  หลังจากที่ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาจนหายดี และกลับมาอยู่บ้าน หรือที่พักพิง  กำลังถูกสังคมรอบข้างตั้งข้อสงสัยและเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเขาเคยเป็นผู้ป่วยโควิด-19


นาทีนี้ต้องยอมรับว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก โควิด-19 เพราะเป็นโรคระบาดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค และทุกคนทุกหน่วยงานให้ความร่วมมืออย่างดีที่สุด อาจทำให้คลายความกังวลใจได้บ้าง ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเริ่มลดน้อยลง ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ติดเชื้อก็รักษาหายและกลับบ้านมากขึ้น นับเป็นข่าวดีที่สะท้อนถึงวงการสาธารณสุขประเทศไทยและความร่วมมือของคนในชาติ


ในทางกลับกัน เมื่อผู้ป่วยกลับมาอยู่บ้าน นำมาซึ่งความกังวลใจของประชาชนทั่วไปที่คิดว่า แม้พวกเขาเหล่านี้ หายแล้วแต่ก็ยังไม่วางใจในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน  นำมาสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติในที่สุด


ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ สู้โควิด-19  thaihealth


นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.  กล่าวว่า  การเลือกปฏิบัติและการตรีตรา คือการไม่ยอมรับ การทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าด้อยลง น้อยลง เพราะฉะนั้นจะนำไปสู่การรังแก การบูลลี่ การทำให้คนอื่นรู้สึกมีคุณค่าต่ำกว่าตนเอง จากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นชัดเลยว่า การทำร้าย การรังแก การเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อโควิดหรือคนที่รักษาหายแล้วก็ตามเห็นในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดีย  เช่น ขับไล่คนออกจากคอนโด การขับไล่คนออกจากหมู่บ้าน พบในทุกระดับของสังคม


“ สสส. เห็นว่า เราต้องรีบให้ความสำคัญก่อนที่สถานการณ์จะบานปลาย แล้วก็ทำให้คนรู้สึกว่า เขาไม่สะดวกใจ เขาไม่ยอมรับการรักษา แล้วก็กลายเป็นการกระจายเชื้อ สังคมไทยมีข้อมูลในการป้องกัน การดูแลรักษาตนเอง ข้อมูลเหล่านี้หาได้เยอะมาก รวมถึงกรเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีใครอยากติดเชื้อ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าเขาได้รับผลกระทบแล้ว เราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเราได้อย่างไร นี่คือหัวใจของการลดการตีตรา”  นายชาติวุฒิ กล่าว


สิ่งสำคัญในการไม่ตีตราและไม่เลือกปฏิบัติ คือ ข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน โดย รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วย โควิด-19 รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โควิด-19 ไม่ใช่โรคเรื้อรัง ฉะนั้นเมื่อเขาหายแล้วก็คือหายแล้ว สามารถที่จะใช้ชีวิตได้ ถ้าคิดง่ายๆ พวกเราทุกคนก็เคยเป็นไข้หวัด หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ในหน้าฝน แต่พอเราหายแล้ว เราก็กลับไปทำงานตามปกติ แล้วก็ใช้ชีวิตต่อเนื่อง ดังนั้น อยากจะให้คิดกับโรคโควิด-19 ว่า ถึงแม้จะเป็นโรคที่ดูรุนแรง เป็นโรคเกิดใหม่ ที่ทุกคนกังวล แต่เป็นโรคที่เมื่อหายแล้วก็จะไม่ติดต่อและไม่ใช่โรคเรื้อรัง


รู้อย่างนี้แล้ว สสส.อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีคิด  ยินดีต้อนรับ ไม่เลือกปฏิบัติ  ไม่ตรีตรา  ผู้ที่อาจติดเชื้อ / ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 โดยปฏิบัติดังนี้


1.รู้จักวิธีป้องกัน


2.อัตราการเสียชีวิตต่ำ  เพียง 3.4 %


3.ปกป้องตัวเองและผู้อื่นเสมือนเรามีเชื้อ


4.ระวังคำพูด สายตา ท่าทาง


5.ให้กำลังใจผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19


6.ต้อนรับผู้ที่รักษาหายแล้ว


7.พลาสมาผู้รักษาหายแล้วมีคุณค่า ช่วยรักษาผู้ป่วยได้


ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ สู้โควิด-19  thaihealth


ดาวน์โหลดอินโฟกราฟิกได้ที่…http://llln.me/wB5oVsm


ยิ่งชุมชนตีตรา เลือกปฏิบัติ และรังเกียจ  คนยิ่งปกปิดข้อมูล  ชุมชนก็จะยิ่งเสี่ยง  ดังนั้นมาร่วมกันทำชุมชนให้ปลอดภัย ไม่รังเกียจ ไม่ขับไล่ เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยง หรือคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่กังวลที่จะให้ข้อมูลและเข้ารับการรักษานั่นเอง


สสส.ร่วมกับมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งทำงานกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ  เครือข่ายเหล่านี้จะเป็นแกนนำ ในการทำงานเรื่องการลดการตีตรา เลือกปฏิบัติ  โดยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการเชื้อโควิด-19 และช่วยกันลดประเด็นเรื่องการตีตราให้เหลือน้อยที่สุด เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม


สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ คือ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันทำให้ประเทศไทยกลับมาสดใสอีกครั้ง

Shares:
QR Code :
QR Code