ไมโครกรีน ทานน้อยแต่ได้ประโยชน์มาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ไมโครกรีน คือต้นอ่อนของพืชผักชนิดต่าง ๆ ที่มีการงอกและยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จุดเด่นของไมโครกรีนที่แตกต่างจากผักทั่วไป คือมีปริมาณสารอาหารและสารพฤกษเคมีสูง
เชื่อหรือไม่ ทานต้นอ่อนบรอกโคลี 50 กรัม จะได้คุณค่าทางอาหารเท่ากับบรอกโคลีโตเต็มวัย 1 หัว ต้นอ่อนที่ว่าไม่ได้จำกัดเฉพาะทานตะวัน แต่ยังมีผักอีกหลายชนิดที่สามารถทานในรูปแบบต้นอ่อนได้เช่นกัน
"ไมโครกรีน" คือต้นอ่อนของพืชผักชนิดต่าง ๆ ที่มีการงอกและยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยอาจเพาะจากเมล็ดของพืช ผัก สมุนไพร หรือธัญพืชต่าง ๆ จุดเด่นของไมโครกรีนที่แตกต่างจากผักทั่วไป คือแม้ไมโครกรีนจะเป็นผักขนาดจิ๋ว ต้นเล็ก ๆ แต่มีรายงานวิจัยพบว่า ไมโครกรีนมีปริมาณสารอาหารและสารพฤกษเคมีสูง เช่น ปริมาณวิตามินซี แคโรทีนอยด์ สารประกอบฟีนอล ปริมาณธาตุต่าง ๆ (Ca, Mg, Fe, Zn, Sn และ Mo) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารต้านมะเร็งสูงกว่าในผักโตเต็มวัยทั่วไป ด้วยคุณประโยชน์ที่ไม่ได้เล็กตามขนาด ส่งผลให้ไมโครกรีนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บางขุนเทียน กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคผักกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยทานผักต้นโตเต็มวัย ปัจจุบันคนเริ่มหันมาบริโภคไมโครกรีนหรือต้นอ่อนเพิ่มขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องทานผักในปริมาณมาก การบริโภคไมโครกรีนในอาหารแค่เพียงเล็กน้อย ก็จะได้รับคุณค่าของสารอาหารในปริมาณที่มากกว่า การบริโภคผักโตเต็มวัยทั่วไปได้ เหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ ทานได้ทุกเพศทุกวัย
"ปกติการบริโภคผัก เช่น บรอกโคลี หรือคะน้าที่โตเต็มวัย เราจะคุ้นเคยกับการ รับประทานกันเป็นต้นหรือหัวใหญ่ ๆ แต่ต้นยิ่งโตคุณค่าสารอาหารบางชนิดยิ่งน้อยลง แต่การทานต้นอ่อนจะได้คุณประโยชน์มากกว่า เปรียบเทียบ เช่น การทานต้นอ่อนบรอกโคลีเพียง 50 กรัม ได้คุณประโยชน์เท่ากับการทานบรอกโคลีโตเต็มวัย 1 หัว ไมโครกรีนสามารถนำมารับประทานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น นำมาปั่นเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ หรือ นำมาโรยหน้าทานกับซุป สลัด หรือแซนด์วิช ก็ได้รับประโยชน์และได้คุณค่าทางอาหาร ปัจจุบันผักไมโครกรีนจัดว่าเป็นรูปแบบใหม่ในการบริโภคผักของคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับไมโครกรีนแก่ประชาชนได้เข้าใจ และรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของไมโครกรีนให้มากยิ่งขึ้น"
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่า ไมโครกรีนมีคุณประโยชน์ดีต่อสุขภาพมาก โดยเฉพาะต้นอ่อนของผักในตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี คะน้า กะหล่ำปลี หัวไชเท้า (ไควาเระ) มัสตาร์ด เนื่องจากมีสารต้านมะเร็ง (glucosinolate) ที่มีเฉพาะในผักตระกูลกะหล่ำเท่านั้น นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการศึกษาการนำผักพื้นบ้านของไทย มาเพาะเป็นไมโครกรีนได้หลายชนิด
"เราได้มีการวิจัยหาผักพื้นบ้านที่สามารถนำมาทำไมโครกรีน เช่น กระเจี๊ยบแดง ผักขี้หูด สามารถนำมาเพาะเป็นไมโครกรีนได้ และมีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้ไมโครกรีนต่างประเทศ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค แต่สิ่งที่ต้องคำนึงและศึกษาเพิ่ม คือกรณีผักพื้นบ้านของไทย ต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่แตกต่างจากเมล็ดพันธุ์ผักของต่างประเทศจึงต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม เพื่อออกแบบสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผักชนิดนั้น ๆ จึงจะทำให้ไมโครกรีนเจริญเติบโตดีและมีคุณค่าทางอาหารและปริมาณสารพฤกษเคมีสูง"
การเพาะไมโครกรีนนั้น มีหลักการเหมือนกับการปลูกผักทั่วไป แต่ใช้ระยะเวลาการเพาะปลูกสั้นกว่าเพียง 7-10 วันเท่านั้น เมื่อต้นอ่อนมีขนาดความสูงประมาณ 1-4 นิ้ว มีใบเพียง 2-3 ใบ ก็สามารถเก็บมาขายหรือนำมารับประทานได้แล้ว โดยปลูกในระบบปิดจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการปนเปื้อน และการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย แต่หากปลูกในระบบเปิดจะต้องมีเวลาดูแลเอาใจใส่มากกว่าโดยเฉพาะโรคแมลง ไมโครกรีนจะเป็นอีกทางเลือกของผู้ที่ไม่ชอบทานผักที่จะสามารถทานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น