ไทยโชว์แสดงโขน เพิ่มกิจกรรมทางกาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 (The 6 th International Congress on Physical Activity and Public Health 2016) ใช้ 'โขน' เป็นไฮไลท์เปิดงาน
ในพิธีเปิดงานการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6 th International Congress on Physical Activity and Public Health 2016) ที่ประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็น เจ้าภาพ ร่วมกับสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพร่วม และองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้สนับสนุน จะสร้างความประทับใจให้ผู้เข้าร่วมงานอย่างสูงเมื่อไทย นำเอา "โขน" มาเป็นไฮไลท์ในการเปิดงาน
การแสดง "โขน" ไม่ใช่เป็นแค่เพียงศิลปะประจำชาติที่มีความอ่อนช้อยงดงาม และเข้มแข็ง เท่านั้น แต่ยังถือเป็นกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ที่ช่วยในการบริหาร ร่างกาย และกล้ามเนื้อในหลายๆ ส่วน ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทักษะ ทั้งทางด้านร่างกาย การรับรู้ และประสาทสัมผัสไปพร้อมๆ กัน
อาจารย์เจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรม ชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแสดงโขนโดยทั่วไป เป็นการประยุกต์ใช้ทักษะทั้งทางด้าน ร่างกาย การรับรู้และประสาทสัมผัส ซึ่งถ้าพูดในเชิงสุขภาพ โขนเป็นกิจกรรมทางกายที่มีประโยชน์มาก เห็นได้จากใช้ร่างกายผ่านท่าทางต่างๆ ของ 4 ตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง โดยแต่ละท่าจะมีความเคลื่อนไหวร่างกายแตกต่างกัน อย่างตัวลิง เป็นตัวละครที่มีท่าทางและการเคลื่อนไหวมากพอสมควร โดยเฉพาะบริเวณขา เมื่อวัดค่าการเคลื่อนไหว ของร่างกาย หรือค่า PA ออกมาจึงพบว่า สูงกว่าตัวละครอื่นๆ รวมไปถึงค่าทางสมอง (Brain Activity) ก็พบว่าสูงเช่นกัน ส่วนตัวละครอื่นๆ เช่น ตัวพระ มีการเคลื่อนไหวไม่ค่อยมาก ค่า PA จึงออกมาน้อยกว่าตัวลิงนิดหน่อย แต่ในส่วนของค่า ทางสมองจะสูงกว่า เนื่องจากต้องใช้ท่าทางที่ค่อนข้างซับซ้อน มีการใช้ร่างกาย และกล้ามเนื้อหลายส่วน ขณะที่ตัวนาง และ ตัวยักษ์อยู่ในเกณฑ์กลางๆ ดังนั้น แสดง "โขน" นอกจากการ จะเป็นกิจกรรมทางกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยให้สมองส่วนต่างๆ ทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย
อาจารย์เจษฎายืนยันถึงประโยชน์ที่ได้จากการแสดงโขน ด้วยเสียงหนักแน่นและเชื่อมั่นว่า ทุกตัวละครในการแสดง โขน ถ้ามี การเคลื่อนไหว 1 ครั้งมันจะทำให้สมองมีการประสานงานในหลายส่วน หลักๆ ก็จะเป็นสมองที่ควบคุมส่วนเคลื่อนไหว ตามมาด้วย สมองที่ควบคุมในเรื่องของการฟัง เพราะการแสดงโขนต้องฟัง และจับจังหวะด้วย สุดท้ายคือสมองที่ควบคุมการทรงตัว ดังนั้น จึงพูดได้ว่า โขนดีต่อกายแล้ว ยังดีต่อการพัฒนาระบบสมองในส่วนต่างๆ ด้วย
เมื่อพูดถึงในส่วนของเครื่องมือที่ใช้วัดค่าต่างๆ เพื่อแสดง ผลลัพธ์ถึงประโยชน์ของการแสดงโขน พบว่า มีเครื่องวัดอยู่ 3 ตัว ด้วยกัน 1.เครื่องวัดผลคลื่นสมอง (เป็นหมวกวัดสัญญาณไฟฟ้า) 2.เครื่องวัดค่ากิจกรรมทางกาย (PA) ติดอยู่ที่เอวเพื่อจับการเคลื่อนไหวของตัวละครแต่ละตัว และ 3.เป็นเครื่องวัดไฟฟ้า กล้ามเนื้อ ที่แปะไว้ที่กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเพื่อวัดดูการทำงานของกล้ามเนื้อแต่ละมัด
สำหรับเครื่องวัดค่ากิจกรรมทางกาย หรือค่า PA มีการ เปิดตัวเครื่อง Feel Fit ในเวทีการประชุมวิชาการ ISPAH (The 6 th International Congress on Physical Activity and Public Health) ซึ่งจะมีขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการตรวจวัดค่าการเผาผลาญพลังงาน ระยะเวลาในการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน โดยมีการใช้เกณฑ์มาตรฐาน World Health Organization (WHO) และพัฒนาระบบโดยมหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนั้นยังมีการแถลงผล Report Cards วัดระดับ PA ในเด็กและเยาวชน 38 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศไทยร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งเป็นข้อมูลการสำรวจที่นำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรก และที่สำคัญทางผู้จัดงานได้เลือกการแสดงโขนจากสถาบันคึกฤทธิ์ มาเป็นโชว์เปิดงานประชุมในครั้งนี้ด้วย เพื่อต้องการสื่อให้เห็นว่า "โขน" ไม่ใช่แค่เพียงศิลปะประจำชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปะ การแสดงที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และระบบสมองที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงอีกด้วย
"ศิลปะวัฒนธรรมไทยมีหลายแขนง ส่วนตัวอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองชวนลูกๆ เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ อย่างโขนก็เป็น ศิลปะการแสดงอีกแขนงที่เด็กจะได้ซึมซับทั้งความงาม ความ อ่อนช้อยและความเข้มแข็งของท่าทางผ่านตัวละครต่างๆ รวมไปถึงการใช้ร่างกาย กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กในช่วงประถมฯ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของพัฒนาการด้านร่างกาย เช่นเดียวกับพัฒนาการทางอารมณ์ และจิตใจ การแสดงโขนถือเป็นการฝึกสมาธิที่ดีมากๆ แถมยังช่วยให้สมองแต่ละส่วนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" อ.เจษฎา ทิ้งท้าย