ไทยเสนอตัวเป็นแหล่งของความมั่นคงทางอาหาร พร้อมขอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้ปรารภต่อที่ประชุมฯ ถึงการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ นครวลาดิวอสต็อก สหพันธรัฐรัสเซีย ว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการพูดถึงหัวข้อสำคัญ ๆ อาทิ เรื่องการเปิดการค้าเสรี ซึ่งหลายประเทศเชื่อว่าการเปิดการค้าเสรีจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าภัยพิบัติรวมถึงอุทกภัยนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารเป็นอย่างมากในขณะที่ประชากรของโลกเพิ่มขึ้นและมีความต้องการอาหารมากขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตของอาหารก็ไม่เพียงพอในบางพื้นที่คือไม่เกิดความสมดุล ทั้งนี้ประเทศไทยจึงได้เสนอตัวเป็นแหล่งของความมั่นคงทางอาหารซึ่งก็ได้รับความสนใจและตอบรับจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้เสนอว่าจะนำผลงานทางด้านการวิจัยมาเป็นการเพิ่มผลผลิตทางอาหาร และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการที่ถนอมอาหาร แปรรูปอาหาร เป็นต้น อีกทั้งประเทศไทย ยังมองเห็นถึงประโยชน์ของการส่งออกอาหารและการที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งการขนส่งอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคของโลก
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ให้ความสนใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพราะเป็นแนวโน้มความต้องการที่สำคัญของโลก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงเรื่องห่วงโซ่อุปทานว่า ได้ให้ความสำคัญในการนำเสนอต่อที่ประชุมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา SMEs ในโอกาสนี้ด้วย
รวมทั้งได้มีการหารือทวิภาคีกับ 4 ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ประธานาธิบดีชิลี และ ประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
โดยประเทศรัสเซียนั้น ถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางพลังงาน ขณะที่ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร จึงตกลงที่จะร่วมมือกันตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาขยายความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศมีต่อไป ส่วนประเทศมาเลเซีย ได้มีการเจรจาทวิภาคีถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดน ซึ่งมาเลเซียมีความเข้าใจในสถานการณ์เป็นอย่างดี และยืนยันถึงสัมพันธภาพที่ราบรื่น รวมทั้งได้มีการเจรจาในเรื่องราคายางพารา ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะประเทศ 3 ประเทศใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ ประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับการประชุมทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี นั้น ปาปัวนิวกีนี ถือเป็นประเทศที่มีพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็พร้อมให้ความสนับสนุนประเทศไทยในเรื่องของการเป็นแหล่งพลังงาน ขณะที่การเจรจาทวิภาคีกับประธานาธิบดีชิลี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเจรจามีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งในส่วนที่ตกลงกันแล้วก็จะให้เป็นกระบวนการทางรัฐสภาตามกระบวนการที่จะต้องดำเนินการต่อไป
ส่วนการประชุมในระดับการประชุมในระดับรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรี รับทราบว่า จะมีการจัดการประชุมขึ้นในประเทศไทย เพื่อหาหนทางสร้างเสถียรภาพราคายางพาราในระยะสั้นให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยหากการประชุมในระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จก็จะนำไปสู่การประชุมระดับซัมมิท โดยเชิญผู้นำของทั้ง 3 ประเทศมาร่วมประชุมกันในโอกาสต่อไป
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ทราบว่า ประเทศไทย มีการตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากที่ประชุมเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งประเทศไทยได้ขอเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในอีก 10 ปี ข้างหน้า คือ ปี ค.ศ. 2022
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน