ไทยเมืองพุทธรอวัน “วัดปลอดเหล้า 100%”

สสส.พาโคราชนำทัพสำเร็จแล้ว 2,564 แห่ง

 ไทยเมืองพุทธรอวัน “วัดปลอดเหล้า 100%”

          ในฐานะที่คุณเป็นพุทธศาสนิกชน คุณทำตามศีล 5 ได้หรือไม่!!! และหากทำไม่ได้ครบทุกข้อ แต่ศีลข้อใดที่ถือว่าหนักสุด “สุราเมรยะ มัฌชประมา” นั่นเอง เพราะคำว่า เมาคำเดียว ทำให้คนดี ๆ ผิดศีลข้ออื่น ๆ ได้

 

          และที่หนักสุดในสถานที่ที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การเคารพบูชาอย่างศาสนสถาน กลับถูกย่ำยี ด้วยการเปลี่ยนสถานที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เป็นแหล่งอบายมุข

 

          เพราะจากผลการสำรวจพบว่า พื้นที่สาธารณะสำคัญโดยเฉพาะในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีการดื่มสุรามากที่สุดแห่งหนึ่งคือพื้นที่ของวัดในพระพุทธศาสนา โดยบเฉพาะในพิธีกรรมและงานสังคมที่จัดในพื้นที่วัด

 

          ทั้งที่เคยมีประกาศเถรสมาคม ห้ามการดื่มสุราในเขตวัดมาก่อน แต่ก็ยังคงมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ สิ่งที่สำคัญคงเป็นหน้าที่ของเหล่าภาคสังคมที่เข้าไปใช้พื้นที่ศาสนสถานไม่ว่างานมงคลหรืองานอัปมงคล ก็ต้องตระหนักและให้ความเคารพสถานที่ ไม่ใช่เฮไหนเฮนั่นเคล้าน้ำจันทร์ตลอดงาน แม้กระทั่งงานบุญหากทำบาปด้วยการผิดศีลแล้ว การทำบุญนั้น ๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

          ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2546 เครือข่ายองค์กรงดเหล้าและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นความสำคัญ จึงได้เข้าไปศึกษาปัญหาและพบว่าปัญหาดังกล่าวเกินกำลังที่พระสงฆ์ที่จะแก้ตามลำพัง จึงเริ่มทำงาน “วัดปลอดเหล้า” ในระดับชุมชน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ได้บทเรียนว่า นอกจากความร่วมมือกันทำงานระหว่างพระและชาวบ้านแล้ว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในด้านนโยบายทั้งฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ และฝ่ายปกครองบ้านเมืองด้วยเพื่อทำให้เกิดการทำความดีขยายวงกว้างและเกิดความยั่งยืน

 

          การขยายวงกว้างนี้นำมาสู่ในปี 2548 โครงการวัดปลอดเหล้าได้มีการนำร่องในระดับจังหวัด โดยมีจังหวัดนครราชสีมานำทัพ ระยะเวลาผ่านไปเพียง 2 ปี มีวัดที่ผ่านตรวจสอบนานกว่า 6 เดือน จนได้รับการรับรองให้เป็นวัดปลอดเหล้าถึง 2,564 แห่ง จึงขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียง อย่างสุรินทร์ หนองคาย และในกทม. เขตคลองเตยและบางรัก ก็ได้นำร่องทำความดีไปแล้ว

 

          จนในปี 2549 กระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการวัดปลอดเหล้าเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราช โดยมีนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินโครงการวัดปลอดเหล้า โดยใช้จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดต้นแบบ ถือว่าเป็นเรื่องสร้างความยินดีอย่างยิ่ง

 

          แต่ในมุมกลับกันจนถึงบัดนี้ ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว เหตุใดวัดที่เป็นแหล่งศูนย์รวมจิตใจคนทั่วประเทศกลับยังไม่สามารถเป็น “วัดปลอดเหล้า 100%” ได้ให้สมกับคนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง

 

          และที่สำคัญ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว และในมาตรา 27 และมาตรา 31 ห้ามไม่ให้มีการดื่มและจำหน่ายสุราในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน ด้วยการจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยเช่นกัน

 

          ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเดินหน้าจริงจังในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ อาทิ การคุมการโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อมวลชน การส่งเสริมการขายต่าง ๆ ฯลฯ

 

          ท้ายสุดแล้ว “วัดปลอดเหล้า” ไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ที่จำวัดอยู่ แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายฆราวาสที่เข้าไปใช้ศาสนสถานเหล่านี้ จะมีความตระหนักและสำนึกเคารพสถานที่มากเพียงใด และที่สำคัญการห้ามดื่มสุราก็เป็นศีล 5 ที่ชาวพุทธควรยึดไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เพียงวัดเท่านั้นที่ต้องปลอดเหล้า แต่ทุกสถานที่ก็ควรเป็นเช่นกัน

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 01-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code