ไทยพัฒนาวัคซีน พิษสุนัขบ้า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ไทยวิจัยพัฒนา วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถึงขั้นคัดเลือกสายพันธุ์ไวรัสเรบีส์ ต่อยอดป้องกันทั้งคนและสัตว์ ลดอัตราการสูญเสีย
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า ช่วงหน้าร้อนประกอบกับเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอม เรามักจะได้ยินข่าวการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เพื่อป้องกันมิให้สัตว์เลี้ยงมากัดหรือข่วนเด็กเล็ก แต่ในความเป็นจริงโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากไวรัส "เรบีส์" ซึ่งสามารถติดต่อทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย ค้างคาว หนู กระต่าย เป็นต้น สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสเรบีส์นี้จะถูกทำลายระบบประสาทส่วนกลาง สมองและไขสันหลัง ทำให้ร่างกายเป็นอัมพาต กลืนอาหารและน้ำได้ลำบากเพราะจะเจ็บและขย้อนออกโรคพิษสุนัขบ้าจึงถูกเรียกอีกชื่อว่า "โรคกลัวน้ำ"
นพ.นคร กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย รัฐบาลจึงได้สนองประปณิธานจัดตั้ง "โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า" สถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานกลางได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาวัคซีนทั้งคนและสัตว์ขึ้นใช้เอง เพื่อสร้างความมั่นคงตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 จึงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งสถาบันฯ ได้สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 และได้ผลคืบหน้าไปมากพอสมควร
ทั้งนี้ โครงการที่สถาบันฯ ให้การสนับสนุนเป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนในระยะแยก เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ไวรัสจากตัวอย่างในประเทศไทย นำทีมวิจัยโดย ดร.ณรงค์ นิทัศน์พัฒนา ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ของเรบีส์ไวรัส ที่เหมาะสมสำหรับนำไปพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคณะวิจัยมีแผนดำเนินงานต่อในระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2562 เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายที่ผลิตโดยใช้เซลล์เพราะเลี้ยงสำหรับคน
"สถาบันฯ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ เช่น กรมปศุสัตว์ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การเภสัชกรรม และสถานเสวภา ได้ข้อสรุปว่า การวิจัยและพัฒนา วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นทั้งในมนุษย์และสัตว์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน หากเราทำได้สำเร็จจะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรครวมทั้งลดการสูญเสียชีวิตและลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถิติในปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 17 ราย และมีผู้สัมผัสโรคจำนวนมาก ส่งผลให้ความต้องการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น" นพ.นคร กล่าว