ไทยนำเข้าสารพิษเกษตรอันดับ 5 ของโลก
หนุนสร้างเครือข่ายเกษตรผลิตอาหารปลอดภัย
เรื่องที่จะบอกเล่าท่านผู้อ่านต่อไปนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แน่นอน เป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ค่อยมีใครรู้ ไม่ว่าจะผู้ผลิตแล้วก็ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ หรือว่าพอรู้แต่ไม่ให้ความสำคัญเพราะอาจไม่เห็นว่ามีผลอะไรกับตัวเองแบบทันทีทันใด
ใครจะรู้สึกยังไงก็ตาม แต่ว่าเรื่องนี้สำคัญแน่นอน สำคัญทั้งตัวบุคคล สำคัญทั้งสังคมไทย แล้วยังสำคัญลามถึงสังคมโลก สำคัญยิ่งกว่าสารเมลามีน โดยเฉพาะที่กำลังอยู่ในความสนใจกันตอนนี้ คือ “ภาวะโลกร้อน”
สำคัญเพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงของคนทุกคน ไม่ว่าจะใช้มันหรือไม่ได้ใช้มันก็ตาม แล้วน่าจะมีผลกระทบต่อคนและสรรพชีวิตมานานแล้วด้วย เพียงแต่มันยังไม่ให้ผลชัดเจนแต่กำลังสะสมเชื้อร้ายฝังตัวในร่างกายเข้าสู่ภาวะตายผ่อนส่งไปเรื่อยๆ
แต่ในส่วนตัวๆ ของสังคมเห็นผลแล้วก็คือ สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเวลานี้ รวมทั้งแผ่ไปสู่สังคมโลก บอกกันเลยครับว่าก็คือ สารเคมีที่เป็นสารพิษที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้โดยเฉพาะในภาคการเกษตรไม่ว่าจะในรูปของปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืช ยากำจัดแมลง
ขอให้อ่านข้อมูลต่อไปนี้ แล้วจะรู้ว่ามันอันตรายแค่ไหน โดยเฉพาะต่อสุขภาพกายธรรมดาของเรานี่แหละ เมื่อรู้ว่าอันตรายแน่นอนแล้วลองมาช่วยกันคิดดูว่าจะป้องกันยังไง
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมสร้างเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นาย
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2543 – 2548 มีปริมาณนำเข้าถึง 71,444 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า 9,194 ล้านบาท/ปี ซึ่งพบว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จะช่วยลดภาระการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี กว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และยังช่วยลดรายจ่ายทางสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาพที่ยั่งยืนของคนไทย
นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก และนำเข้าสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร เป็นเงิน 30,000 ล้านบาท ต่อปี
ผลของการใช้ยาฆ่าแมลง พบว่าในแต่ละปีมีเกษตรกรไทยเสี่ยงต่ออัตราการเกิดโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น เนื่องจากยาฆ่าแมลงทำให้เกิดความเสียหายต่อระดับดีเอ็นเอ (DNA) ในเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ การพัฒนาทางวิชาการเพื่อส่งเสริมและสร้างเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จึงถือเป็นทางออกที่สำคัญของการสร้างสุขภาพในกลุ่มเกษตรกรไทย
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในการส่งเสริม สร้างเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จะเน้นการรณรงค์ให้สังคมตระหนักและเห็นความสำคัญถึงการเปลี่ยนระบบการผลิตภาคการเกษตรเคมี เป็นระบบเกษตรที่ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเกษตรที่ทำการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพของผู้ผลิตผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการร่วมกัน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สสส. ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดแผน นโยบาย และประสานการทำงานในระยะเวลา 5 ปี
ผู้ผลิต คือ เกษตรกรนั้น ที่เจอแน่ๆ คือ มะเร็ง แล้วไม่ใช่จบแค่นั้น ยังสะสมสารพิษไว้ในร่างกายผ่านการบริโภคผลผลิตที่ใช้สารพิษดังกล่าวด้วยนั่นแหละ ทางรอดพ้นอันตรายจากสารเคมีพิษบอกไว้ในข้อมูลแล้ว เพียงแต่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดจริงจัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update 21-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก