ไทยติดอันดับต้นของโลก รุนแรงในครอบครัว
พม.เผยสถิติร้องเรียนศูนย์ oscc กรณีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวพุ่งติดอันดับต้นของโลก ชี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม เตรียมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมาย
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 56 มีการสัมมนาวิชาการเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จัดโดยสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย และสถาบันอุดมศึกษา 12 แห่ง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อส่งเสริมการหยุดความรุนแรงในเด็กและสตรี
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์ช่วยเหลือสังคมหรือ oscc ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. จนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่ร้องเรียนเข้ามา 10,847 ราย โดยเรื่องหลักที่ พม.ให้ความสำคัญคือความรุนแรงให้ครอบครัว 758 ราย เรื่องท้องไม่พร้อม 169 ราย เรื่องค้ามนุษย์ 110 ราย และค้าแรงงานเด็ก 34 ราย นอกจากนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี 6,195 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้ร้องเรียนเข้ามาวันละ 30 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว
“จากปัญหาความรุนแรงในครัวครอบ ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นทุกวันสะท้อนว่าสังคมขณะนี้ค่อนข้างเหลวแหลก สถาบันครอบครัวเกือบจะล้มละลายแล้ว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ให้หมดสิ้นไป โดยต้องเริ่มจากเยาวชน ควรจะมีส่วนร่วม มีบทบาทในการเรียนรู้เพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเอง และสามารถสอนเพื่อนๆ ได้ว่าควรจะดำเนินชีวิตในสังคมอย่างไร” นางปวีณากล่าว
อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 พ.ย.นี้ พม.จะประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็ก สตรีและครอบครัว เพื่อปรับยุทธศาสตร์การจัดการความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ให้สอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พร้อมปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น ปรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ.2550 จากเดิมที่เป็นตัวสำคัญที่จะช่วยป้องกัน และคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่กระทำความรุนแรงไม่ให้กลับมาทำอีก
ดังนั้น ประชาชนเองจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายด้วย โดย พม.จะเป็นหน่วยงานหลักได้ดำเนินนโยบายหลักในด้านการป้องกัน โดยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมให้เกิดความตระหนักถึงความรุนแรงในครอบครัวว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทุกหน่วยงานต้องรับผิดชอบร่วมกัน และส่งเสริมให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง อบอุ่น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการแก้ไขฟื้นฟูโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งด้านสังคมและกฎหมาย
ขณะที่นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2550 – 2556 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงและเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลจำนวน 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 วินาที ล่าสุดปี 2554 มีเด็กและสตรีเข้ารับบริการจำนวน 22,565 ราย เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นสตรีอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,075 ราย โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของ พม.กับ สธ.พบว่าการกระทำความรุนแรงใสนครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวยังเป็นปัญหาความรุนแรงระดับสากลที่เกิดทุกสังคมทั่วโลก และจากข้อมูลของ un women สำรวจสถิติความรุนแรงทางร่างกายต่อคู่ของตัวเองจาก 75 ประเทศ ยังพบว่าประเทศไทยเป็นลำดับที่ 36 ที่มีการกระทำความรุนแรงทางกายมากที่สุด ขณะที่อันดับแรกคือประเทศกิรีบาติ รองลงมาคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเอธิโอเปีย
ส่วนประเด็นความรุนแรงทางเพศต่อคู่ของตัวเองจากข้อมูล 71 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ที่มีการกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด โดยอันดับแรกคือ ประเทศเอธิโอเปีย รองลงมา โซโลมอนไอร์แลนด์ และกิรีบาติ นอกจากนี้ยังพบว่าความเชื่อที่สามีตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ข้อมูลจาก 49 ประเทศพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ที่มีความเชื่อนี้มากที่สุด อันดับแรกคือ อันดับแรกคือประเทศแซมเบีย และอันดับ 3 คือประเทศมาลี
“น่าตกใจที่ประเทศไทยอยู่อันดับต้นๆ ของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ความรุนแรงทางเพศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะเห็นว่าจากการที่เรามีกฎหมาย มีผู้บังคับใช้กำหมาย แต่ปัญหาก็ไม่ได้ลดน้อยลง จึงคิดว่าเรื่องนี้ทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันลดความรุนแรงเหล่านั้น และเชื่อว่าเด็ก และเยาวชนจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีปัญหาความรุนแรงลดน้อยลงได้” นางสุทธินี กล่าว
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง “พลังเยาวชนกับการมีส่วนร่วมยุติความรุนแรงในครอบครัว” ว่า รากเหง้าความรุนแรงอยู่ในระบบคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน และจะเบ่งบานเมื่อมีอำนาจ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดูแลระบบคิดและจิตวิญญาณทั้งภายในและภายนอก เพราะยิ่งสังคมเปิดช่องก็จะยิ่งทำให้สร้างความเดือดร้อนและเสียหายมากยิ่งขึ้น
มิติทางสังคมที่เป็นรูปธรรมที่จะยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงคือกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยได้ออกแบบกฎหมายที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็ก สตรี คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ จึงอยู่ที่ความร่วมมือที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลอย่างจริงจังแค่ไหน
ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงษ์ศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ กล่าวว่า วัฒนธรรมสังคมไทยกำลังเผชิญกับพฤติกรรมความรุนแรง โดยเฉพาะเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำมากขึ้น จึงต้องร่วมกันปลูกฝังให้สังคมไทยเป็นอารยะที่ยึดหลักวิธีคิดบนฐานความดี ความงามและความจริง และสร้างความสัมพันธ์ด้วยหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งอาจจะเห็นอนาคตของไทยไร้ความรุนแรง ก็ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ซึ่งตนเชื่อว่าเยาวชนจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยได้
ส่วนนายนวกัณฑ์ อุบล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงได้ ด้วยการเคารพสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน การลดความเชื่อหรือทัศนคติที่ว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ปัญหาได้ และหากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง กลไกทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขได้ หากทุกคนร่วมกันแจ้งข้อมูลเบาะแส
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์