ไทยคุมบริโภคยาสูบสำเร็จ!!!

อนามัยโลกเผย! ชูไทยเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์

 ไทยคุมบริโภคยาสูบสำเร็จ!!!

          องค์การอนามัยโลก เลือกไทยเป็นต้นแบบประเทศที่สามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้สำเร็จ ระบุไทยมีศักยภาพทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ที่ทำงานได้ดีเป็นที่ยอมรับ พร้อมดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้

 

          ดร.อาร์มันโด เปรูโก ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพการรณรงค์ลดสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ในการควบคุมการบริโภคยาสูบถือเป็นนโยบายขององค์การอนามัยโลก ซึ่งที่ผ่านมา มีการทำอนุสัญญาเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบ (the who framework convention on tobacco control : who fctc) ร่วมกับประเทศต่างๆ โดยมีประเทศสมาชิก 159 ประเทศเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ ซึ่งจะครอบคลุมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกด้าน ทั้งการห้ามการโฆษณา การลดการสูบบุหรี่ การคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ และมาตรการเพิ่มภาษี เป็นต้น แต่ปรากฏว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่กลับไม่สามารถดำเนินการตามอนุสัญญาได้ เพราะขาดประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติ

 

          ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงเตรียมจัดทำยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างโครงการสำรวจการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ

 

          ทั้งนี้ ประเทศที่มีศักยภาพพอเป็นต้นแบบควบคุมยาสูบได้มี 2 ประเทศ คือ บราซิล และไทย ซึ่งไทยทำเรื่องนี้ได้ดีเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงชวนรัฐบาลไทยเข้าร่วม ซึ่งไม่เพียงแต่ไทยจะเป็นต้นแบบการควบคุมการบริโภคยาสูบให้ประเทศต่างๆ แล้ว ยังเป็นการพัฒนางานการควบคุมยาสูบในประเทศ โดยผลสำรวจที่ได้จะนำมาปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง เพื่อให้ไทยเป็นประเทศต้นแบบที่สมบูรณ์ที่สุด

 

          ดร.อาร์มันโด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อทำการสำรวจแนวทางการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยกรอบแนวทางการสำรวจจะมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1.สถานการณ์การควบคุมยาสูบทั้งในอดีตและปัจจุบัน 2.บทบาทการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งของภาครัฐ ภาคประชาสังคม

 

          และ 3.การดำเนินงานที่ยังไม่ครบถ้วน ยังขาดแนวทางใด เพื่อหาทางแก้ปัญหาและเติมเต็มการดำเนินงานการควบคุมการบริโภคยาสูบให้สมบูรณ์ โดยจะดำเนินการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ จากนั้นภาครัฐจะนำข้อสรุปดังกล่าวออกเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป

 

          “องค์การอนามัยโลกมองว่า ไทยมีศักยภาพในการควบคุมการบริโภคยาสูบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ที่ดำเนินการด้านกฎหมาย หรือภาคประชาสังคม พวกเอ็นจีโอต่างๆ จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งเรามองว่ามาตรการควบคุมยาสูบที่ดีต้องอาศัยหลายข้อ อาทิเช่น การเพิ่มมาตรการทางภาษีที่มีผลต่อราคาขาย ทำให้นักสูบหน้าใหม่ลดการบริโภคลง การสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่

 

          การเปลี่ยนแปลงค่านิยมในสังคมจากการสูบบุหรี่ดูดี ดูเท่ ให้เปลี่ยนเป็นการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี การห้ามการโฆษณา ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีมาก รวมทั้งมาตรการภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งประเทศไทยมีการดำเนินการเหล่านี้มาโดยตลอด” ดร.อาร์มันโดกล่าว

 

          ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการการสำรวจดังกล่าวจะมีการขัดขวางของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติหรือไม่ ดร.อาร์มันโด กล่าวว่า ในเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบ ย่อมส่งผลเสียต่อบริษัทบุหรี่ข้ามชาติอย่างแน่นอน แต่เรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ องค์การอนามัยโลกจึงยืนหยัดจะต่อสู้เพื่อสุขภาพของทุกคนต่อไป ส่วนบริษัทบุหรี่ไม่น่ามีปัญหา เพราะการควบคุมยาสูบต้องต่อสู้กับบริษัทบุหรี่อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละประเทศก็สามารถผ่านพ้นมาได้

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update : 11-07-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code