‘ไทยกวยไทย’ ภูมิปัญญาจักสานแห่งหนองไฮ

ความที่สมาชิกกลุ่มอาชีพ “จักสาน” ของตำบลหนองไฮ อำเภออุทุมพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายจากชาวส่วย หรือกูย พวกเขาเรียกตัวเองว่า “กวย” กลุ่มจักสานจึงตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของพวกเขาว่า “ไทยกวยไทย”

ชาวกวยมีภาษาของพวกเขาเอง เรียกว่า ภาษาส่วย ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้ภาษาส่วยน้อยลง จึงมีการส่งเสริมการเรียนภาษาดั้งเดิมนี้ที่โรงเรียน “บ้านนาโนน” ด้วย ส่วนกลุ่มงานจักสาน ที่ชื่อ “ไทยกวยไทย” ยังคงสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านกลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอ นับเป็นกลุ่มอาชีพที่มีเงินไหลเวียนที่สุดกลุ่มหนึ่งของตำบลหนองไฮ

เลี่ยม ประถมบุตร ประธานกลุ่มจักสาน เล่าให้เราฟังว่า เดิมทีงานจักสานเป็นความรู้ดั้งเดิมของชาวบ้านอยู่แล้ว แต่มีขีดจำกัดคือ อาจผลิตได้แค่ของใช้ไม่กี่อย่างเอาไว้ใช้เองเท่านั้น หลังจากตั้งกลุ่มอาชีพเสริมนี้ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากเงินกองทุน sml ของหมู่บ้านจำนวน 10,000 บาท ผ่านการช่วยเหลือของ อบต.หนองไฮ ได้ส่งคณะไปดูงานที่จังหวัดสกลนคร นำมาประยุกต์กับความรู้เดิมและวัสดุที่มีในท้องถิ่น จึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จักสานออกจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด

ผลิตภัณฑ์จักสานที่มีตอนนี้คือ หมวก, ตะกร้า, กระติ๊บข้าว, กระพ้อม และสุ่มไก่ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นคือ ไม้ไผ่ ต้นกก และเตยหนามเป็นหลัก

วิธีเตรียมเตยหนามเริ่มจากตัดใบมาลิดหนามออก แล้วสอยให้เป็นเส้นเล็กๆขนาดกว้างราว 0.5 เซนติเมตร จากนั้นนำไปตากให้แห้ง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ลานบ้านบ้าง พื้นถนนบ้าง เพียง 3-4 วันก็ใช้ได้ แล้วนำมาพักไว้โดยเหน็บกับขื่อหลังคา ก่อนเอามาสานจะต้องนำมาแช่น้ำในกะละมังอีกครั้งเพื่อให้เส้นเตยนิ่ม และถ้าอยากย้อมสีก็จะใช้เส้นเตยจากขั้นตอนนี้ ไปแช่ในน้ำใส่สีย้อมที่ต้มจนเดือด แช่เส้นเตยหรือกกลงไปราว 15 นาที จึงนำขึ้นมาล้างน้ำเย็น จากนั้นนำไปตากแห้งอีกรอบ จึงนำมาใช้ได้

“โครงสร้างจะขึ้นแบบเหมือนกัน แต่รายละเอียดลวดลายก็แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคน ปล่อยอิสระ” พี่เลี่ยมเล่าไปยิ้มไปอย่างอารมณ์ดี

ส่วนวิธีการดำเนินงานของกลุ่มนี้คือ ใครว่างจากนา ว่างจากเก็บสะเดา ก็มาทำงาน ไม่บังคับ โดยกลุ่มจะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ไว้ทั้งหมด หมายถึงว่า ใครสานหมวกได้หนึ่งใบ ก็รับซื้อไว้ทันที สมาชิกกลุ่มไม่ต้องรอเงินจากการขาย จึงมีกำลังใจสร้างสรรค์ผลงาน และหากทางตำบลไปออกร้านที่ไหน  ก็นำไปจำหน่าย “บางครั้งไปถึงขอนแก่น อุดรธานี หรือเมืองทองธานีกรุงเทพฯ ก็ไป” พี่เลี่ยมว่า หรือบางคราวมีคนจากข้างนอกเข้ามาสั่งซื้อก็มี ทางกลุ่มก็จะขาย โดยนำกำไรกลับมาจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และซื้องานจากสมาชิกในกลุ่มเก็บไว้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อรายได้หมุนเวียน สมาชิกทุกคนที่ตอนนี้มีอยู่ราว 10 กว่าคน ก็มีกำลังใจ สามารถดำเนินงานไปได้เรื่อยๆ

“กลุ่มของเราทำงานด้วยความเพลิดเพลิน หยอกล้อกันไปทำงานกันไป กินเล่นกันไป ตอนเที่ยงก็ทำกับข้าวกินกันในกลุ่ม สนุกสนานของเราไป ไม่เครียด” พี่เลี่ยม ประธานกลุ่มจักสานทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ปันสุข 

Shares:
QR Code :
QR Code