‘ไดเอทถนน’ ขยายทางเท้า สู่เมืองเดินได้ เดินดี

ที่มา : เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว


'ไดเอทถนน' ขยายทางเท้า สู่เมืองเดินได้ เดินดี thaihealth


แฟ้มภาพ


"เมืองอะไรเอ่ย ที่อยู่แล้ว จน อ้วน โสด" คำตอบ "กรุงเทพมหานคร" อธิบายคำว่า "จน" เพราะค่าเดินทางจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2555 พบว่าคนกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายเดินทางประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด


"อ้วน" คนกรุงเทพฯ อ้วนติดอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลพบว่าคนเมืองสะสมโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 35 ในปี 2547 และเพิ่มเป็นร้อยละ 44.5 ในปี 2552 สาเหตุเพราะสภาพแวดล้อมภายในบ้านและที่ทำงานไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหว ประเด็นต่อมา "โสด" ผลลัพธ์มาจากวัฒนธรรมการขับรถยนต์ ขับรถไปทำงาน แล้วกลับบ้านเวลาส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน


'ไดเอทถนน' ขยายทางเท้า สู่เมืองเดินได้ เดินดี thaihealth


ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการ และทีมงานเมืองเดินได้ เมืองเดินดี (Good Walk) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในงานแถลงข่าว "โครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดีระยะที่ 3" ภายใต้แนวคิด กิจกรรมเมืองเดินสนุกของทุกคน ที่โกดังอเนกประสงค์ริมน้ำ ล้ง 1919 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการและกลไกในการเชื่อมโยง "นโยบาย" เข้ากับ "พื้นที่" เป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางของผู้ใช้ชีวิตประจำวัน เน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างพื้นที่เดินดี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามเป้าหมายทำงานส่งเสริม "พื้นที่สุขภาวะ" ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี แบ่งเป็นการทำงาน 3 ระยะ ระยะที่ 1 ศึกษาศักยภาพและจัดทำแผนที่ดัชนีวัดศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 การกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับใช้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อกำหนดแนวทางออกแบบ ระยะที่ 3 เสนอผังพัฒนาพื้นที่นำร่องเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง ขณะนี้โครงการเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยเลือกพื้นที่ 3 ที่ ได้แก่ ย่านอารีย์ประดิพัทธ์ ย่านทองหล่อ-เอกมัย และย่านคลองสาน-ท่าดินแดง


ดร.นิรมล กล่าวว่าใน 3 พื้นที่ดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะปรับให้เป็นพื้นที่เดินดีได้ เพราะคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ถือว่าเป็นพื้นที่ไดนามิกเพราะมีความเปลี่ยน แปลงตลอดเวลา มีความเก่าและความเก๋ มีกลุ่มคนสร้างสรรค์ ไปสำแดงของตัวเองอยู่ในนั้น เช่น การเปลี่ยน รร.ม่านรูด เป็นออฟฟิศออกแบบ และยังมีความเก่า เพราะย่านนี้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร เป็นต้น จึงมีที่อยู่อาศัยของข้าราชการ มีออฟฟิศมีร้านค้าแผงลอย จึงมีความทรงจำ มีความหลากหลาย มีร้านรวงใหม่ มีไอเดียใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีทั้งคนนอกคนใน คนที่เข้าไปเที่ยวจึงมักไปแอบจอดรถในซอย สร้างความรำคาญให้คนที่อยู่อาศัยในย่านนั้น


'ไดเอทถนน' ขยายทางเท้า สู่เมืองเดินได้ เดินดี thaihealth


นอกจากนี้การออกแบบผังถนนไม่เป็นลำดับศักดิ์ ถนนขนาบในย่านนั้น คือพหลโยธิน และพระราม 6 เมื่อรถจากถนนเข้าไปในซอยเปลี่ยนเป็นถนนแคบในช่วงเช้าและเย็น ถนนต้องรับรถจำนวนมาก ดังนั้นการปรับเปลี่ยนย่านนี้ โจทย์แรกคือการปรับปรุงโครงข่ายการเดิน อันดับที่ 2 สร้างพื้นที่แบ่งปัน เพราะจากการสำรวจข้อมูลคนขับรถมีแค่ 30% แต่ได้พื้นที่ถนนกว้างมากถึง 70% คนเดินถนนบีบกันอยู่บนทางเท้ากว้าง 2 เมตร และ อันดับที่ 3 ลดอำนาจรถยนต์


ตัวอย่างของปากซอยอารีย์หรือพหลโยธินซอย 7 คะแนนเดินดีได้ไม่ถึง 50 เดินไม่สะดวก เดินไม่ปลอดภัย รับภาระหนักมากในการแบกทุกสิ่ง ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แผงลอยเบียดอยู่บนนี้ ดังนั้น จึงต้องทำสตรีทไดเอท หรือลดขนาดถนน เอาพื้นที่มาขยายทางเท้าให้มากขึ้น ทำหลังคากันแดดกันฝนบริเวณทางเดิน มีไฟฟ้าแสงสว่างเพียงพอ ส่วนแผงลอยที่อยู่หน้าปากซอยให้ย้ายมาอยู่ในซอยอารีย์ 1 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 56 แผงลอย ในพื้นที่ซอยอารีย์ 1 นั้นสามารถรวมร้านค้าอยู่ได้เพราะเป็นทางเดินไปสู่ซอยลัด


นอกจากนี้จากซอยราชครูให้เดินเชื่อมไปยังถนนพระราม 6 ปัจจุบันมีทางเท้าที่แคบมากขนาดทางเท้า 30 ซม. ต้องขยายทางเท้าเข้าไปในพื้นที่ของถนน ส่วนพื้นที่หลังกระทรวงการคลังปัจจุบันมีตลาดนัดปรับปรุงให้เป็นถนนคนเดิน มีสวนนั่งพักผ่อนได้


'ไดเอทถนน' ขยายทางเท้า สู่เมืองเดินได้ เดินดี thaihealth


"ไม่ว่าจะจัดเวิร์กช็อปครั้งใดคนในซอยอารีย์ไม่ต้องการบันไดขึ้นลงรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะขวางทางเดิน มีแนวทางคือทางออกให้เชื่อมทางออกกับตึกที่อยู่ติดกัน ถ้ามีการปรับปรุงโครงข่ายเดินเท้า แบ่งปันพื้นที่ ลดอำนาจรถยนต์ ค่าคะแนนการเดินในซอยอารีย์ จะเพิ่มขึ้น จาก 47% เป็น 72%"


ดร.นิรมล กล่าวว่า อีกแนวทางที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เดินได้เดินดี พื้นที่ราชการหน่วยงานเอกชน สามารถที่จะเอื้อสามารถตัดเป็นทางลัดเข้าไปได้ ตัวอย่างเช่น พื้นที่พาร์คสยาม เปิดรั้วจากคณะเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้คะแนนการเดินเพิ่มขึ้น จากเดิมเป็นรั้วคนเดินเหม็นมาก เพราะคนมายืนฉี่ พอเปิดรั้วออกแบบสวนให้คนเดินค่าคะแนนเดินได้เดินดีสูงขึ้นมาก


โจทย์สำคัญสำหรับการเดินดีคือ เรื่องของแผงลอยร้านค้า ตามความเข้าใจของคนทั่ว ไปว่าขัดขวางการเดิน แต่ผลสำรวจเรื่องแผงลอยพบว่าไม่เป็นอุปสรรคทางเท้า คนส่วนใหญ่ชอบเดินไปในที่ที่มีแผงลอย ถ้ามีแผงลอยจะรู้สึกปลอดภัย และเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ค้าแผงลอยมีความต้องการพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ ๆ กับเส้นทางการเดินเท้า รวมทั้งมีราคาค่าเช่าที่ถูก เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของแผงลอย


ดร.นิรมล ยังบอกว่าการออกแบบถนนให้เดินได้เดินดี นอกจาก ลดความอ้วนของถนน สตรีทไดเอท ยังต้องทำเรื่องแชร์ที่จอดรถ เพราะคนในเมือง ต้องคนขับรถมา เนื่องจากระยะการเดินจากบ้านถึงระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เอารถมาแล้วสามารถจอดในพื้นที่อาคารขนาดใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ หลังเลิกงานของออฟฟิศ อย่างไรก็ตามมีตัวอย่างของเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ไดเอทถนน ลดอำนาจรถยนต์จนสำเร็จ สำหรับในกรุงเทพฯ พบว่า ถนนในหลาย ๆสายเปลี่ยนเป็นที่จอดรถเสีย 1 เลน ดังนั้นควรเอาคืนมาให้คนเดินหรือให้แผงลอยได้ขายของ


พื้นที่นำร่อง 3 แห่ง เมืองเดินได้เดินดี จะเป็นไปตามผลการศึกษาได้ขนาดไหน ต้องมีหลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน แต่ที่ชัดเจนสุดคนอยู่อาศัยในย่านนั้นยกมือเห็นด้วย…รอเพียงภาครัฐขยับ

Shares:
QR Code :
QR Code