ไข้คอตีบระบาดหนักอีสาน

 

ไข้คอตีบระบาดหนักอีสาน

 

กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (public health emergency) ด้านการอุบัติหมู่ของโรคไข้คอตีบในพื้นที่ภาคอีสาน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้แจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง ก่อนจะออกคำสั่งเป็นทางการอีกครั้ง

สำหรับสถานการณ์การระบาดล่าสุด มีความรุนแรงใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดย คร.คาดการณ์เส้นทางการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย

นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภายในให้เฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการค้นหาผู้ที่เป็นพาหะของโรค อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงและการระบาดสูงสุดได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ

“เราประกาศให้หน่วยงานภายในเตรียม พร้อม แต่สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยพบผู้เสียชีวิตเพียง 2 ราย ซึ่งเป็นสถิติสะสมจากช่วงระบาดใหญ่” นพ.ภาสกร กล่าว

นพ.ภาสกร ย้ำว่า สถานการณ์ของโรคไม่รุนแรง ไม่ได้ระบาดใหญ่ ประชาชนสามารถไปงานเทศกาล งานบุญ หรืองานที่มีการรวมกลุ่มกันได้ตามปกติ

สำหรับโรคคอตีบ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.วว.รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อธิบายว่า เป็นโรคที่เกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย มักจะเกิดกับเด็กเล็ก ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อคือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ขาดสุขอนามัย และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

เชื้อจะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก โพรงหลังจมูก ลำคอ แต่อาจจะพบได้ในผิวหนัง นอกจากนี้เชื้อมีโอกาสจะอยู่ในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติได้ โดยโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว จากผู้ที่คลุกคลีกับผู้ป่วย การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ การไอจาม

เมื่อได้รับเชื้อ เชื้อจะค่อยๆ สร้างสารพิษ ซึ่งเป็นโปรตีนมีพิษต่อร่างกายชนิดหนึ่ง เรียกว่า diphtheria toxin สารพิษนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เกิดการตายของเซลล์เยื่อเมือกในทางเดินหายใจของเซลล์เม็ดเลือดขาวและของเม็ดเลือดแดง รวมทั้ง|การตายสะสมของตัวแบคทีเรียเอง ก่อให้เกิดเป็นแผ่นเยื่อหนาปกคลุมทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออก คล้ายมีอะไรบีบรัดในทางเดินหายใจ

อาการพบคือ มีไข้แต่ไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส รู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย เจ็บคอมาก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ จากนั้นเสียงจะแหบลงเรื่อยๆ น้ำมูกอาจมีเลือดปน และอาจมีแผลทางผิวหนัง การรักษาจะให้ยาต้านสารพิษ ยาปฏิชีวนะ และการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีการรักษาประคับประคองตามอาการ

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code