‘ไข่แมงดาทะเล’ กินหน้าร้อน เสี่ยงอันตราย
รายงานจากสำนักระบาดวิทยา พบอาหารเป็นพิษจากการรับประทานไข่แมงดาทะเลเผาและยำใน จ.ตราด 5 เหตุการณ์ ผู้ป่วยรวม 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย เตือนประชาชนไม่ควรบริโภคไข่แมงดาทะเลในช่วงเดือน ก.พ. ถึงเดือน มิ.ย. ของทุกปี
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์-12 มีนาคม ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยา พบอาหารเป็นพิษจากการรับประทานไข่แมงดาทะเลเผาและยำใน จ.ตราด 5 เหตุการณ์ ผู้ป่วยรวม 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ป่วยที่ได้รับรายงานอยู่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองใหญ่ 3 ราย อ.เมือง 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย อ.เขาสมิง 1 ราย และ อ.แหลมงอบ 8 ราย
“แมงดาทะเลมี 2 ชนิด คือ แมงดาจานและแมงดาถ้วย ลักษณะแตกต่างของแมงดา 2 ชนิดนี้สังเกตได้ที่หาง โดยแมงดาจานจะมีหางเหลี่ยม ส่วนแมงดาถ้วยมีหางกลม แมงดาที่ไม่มีพิษและรับประทานได้คือแมงดาจาน ส่วนแมงดาที่มีพิษ รับประทานไม่ได้คือแมงดาถ้วย มีสารพิษจาก 2 สาเหตุคือ 1. แมงดาถ้วยไปกินตัวแพลงตอนที่มีพิษ หรือกินหอย หรือหนอนที่กินแพลงตอนที่มีพิษเข้าไป ทำให้สารพิษสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย 2. เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพิษขึ้นมาได้เอง” นพ.ณรงค์กล่าว
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กุมภาพันธ์-มิถุนายนทุกปี จะมีการเจริญแพร่พันธุ์ของแพลงตอนที่สร้างสารพิษจำนวนมาก แมงดาถ้วยจะกินแพลงตอนนี้ และพิษจะไปสะสมที่ไข่ เมื่อคนกินไข่แมงดาจะเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและรวดเร็วภายใน 10-45 นาที หลังจากรับประทานเข้าไปและเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันคือ ไม่ควรกินไข่แมงดาทะเลในช่วงนี้ แต่หากพบว่า หลังจากรับประทานมีอาการชาที่ปาก ลิ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษจากแมงดาทะเล ประชาชนที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต