“ไข่มุกอันดามัน” ประกาศปฏิญญาสุขภาพ

สร้างสังคมสุขภาพดี-ลดโรคร้าย รับกระแสพอเพียง

 “ไข่มุกอันดามัน” ประกาศปฏิญญาสุขภาพ

          ภูเก็ตเมืองชายทะเลเจ้าของสมญานาม “ไข่มุกอันดามัน” ยังคงเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ แต่เบื้องหลังเสน่ห์แห่งสายน้ำและท้องทะเล คนภูเก็ตยังประสบทุกขภาวะทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

 

          นายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็ตและภาคีสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สถานการณ์สุขภาพของ ภูเก็ต มีหลายประเด็นที่ถูกคุกคาม โดยเริ่มพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียมากถึง 75 ราย จากเดิมที่ไม่เคยมีผู้ป่วยโรคนี้มานานกว่า 10 ปี ขณะที่โรคมะเร็งคือสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนภูเก็ต โดยสูงที่สุดคือ โรคมะเร็งในหลอดลมและปอด อัตราการตาย 9.38 ต่อแสนประชากร สองมะเร็งตับ อัตราการตาย 7.50 ต่อแสนประชากร สามเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมอัตราการตาย 5.10 ต่อแสนสี่มะเร็งปากมดลูกอัตราการตายสูง 3.65 ต่อแสนประชากร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอัตราการตาย 2.63 ต่อประชากรแสนประชากร

 

          ไม่เพียงปัญหาสุขภาพเท่านั้นหากภูเก็ตยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมขยะล้นเมืองมากถึง 400 ตันต่อวัน และปริมาณน้ำเสีย ด้วยภาวะสุขภาพและสถานการณ์เศรษฐกิจที่รุมเร้าทำให้ภาครัฐและเอกชนของภูเก็ต ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างสุขภาคใต้ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงานสร้างสุข และผลักดัน วาระสุขภาพจังหวัดภูเก็ตจัดทำแผนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตโดย ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสู้กับปัญหาต่างๆ จากที่เป็นผลพ่วงจากการท่องเที่ยว

 

          นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ปัญหาสุขภาพ สิ่งแวดล้อมมีความหลากหลายดังนั้นในเรื่องสุขภาวะจึงเป็นเรื่องที่จะต้องระดมทุนทางสังคมจากทุกภาคส่วน มาร่วมมือในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารทั่งภาครัฐและภาคท้องถิ่น ภาคีประชาชน โดยใช้ฐานความรู้จับมือกันเป็นพันธมิตร

 

          ขณะที่ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 3 ปี 2551-2553 เพื่อยกระดับในสามด้านคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยจะพัฒนานายกมาตรฐาน สถานีอนามัย และให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล ลดความแออัดของโรงพยาบาลของรัฐ โดยได้ซื้อรพ.พญาไทภูเก็ต 327 ล้านบาทคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียงการพัฒนาด้านการศึกษา และการพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อม

 

          นอกจากนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ ภูเก็ตรุนแรงมาก โดยเฉพาะปัญหาขยะ แต่สามารถบริหารจัดการได้ อปท.บางแห่งพยายามสร้างความร่วมมือกับชุมชนสร้างธนาคารวัสดุรีไซเคิล การสร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำโครงการถนนสวยปลอดภัยขยะ เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายท้องถิ่นที่ดีที่สุด

 

          นายแพทย์โกศล แตงอุทัย ที่ปรึกษา ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบรวมศูนย์ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 เทศบาล 12 องค์การบริหารส่วนตำบล ใช้การบริการเตาเผาขยะร่วมกัน สามารถเผาขยะได้วันละ 250 ตัน แต่แนวโน้มของขยะจะเพิ่มขึ้น 20% ในช่วงไฮซีชั่น จะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ตันต่อวัน ขณะที่ เตาเผาขยะไม่เพียงพอ

 

          ขณะที่ น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตกล่าวว่า ชาวภูเก็ตจะต้องได้รับการบริการที่ดีเลิศและเท่าเทียมกันในเมืองน่าอยู่ และสะดวกปลอดภัย นครภูเก็ตจะต้องเป็นเมืองแห่งคุณภาพ สร้างเสริมสุขภาพ กายใจไร้โรคให้ได้

 

          แม้ทุกขภาวะของคนภูเก็ตจะไม่ได้ถูกเนรมิตสู่ชีวิตที่เป็นสุขได้ในชั่วข้ามวันข้ามคืน แต่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้น นำมาสู่การประกาศวาระสุขภาวะคนภูเก็ต เป็นสัญญาณที่ดีของการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนของคนภูเก็ตนั่นเอง

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 27-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code