ไขรหัสลับ “เอสแอลอี”
หากเอ่ยถึงโรค “เอสแอลอี” หลายคนคงไม่รู้จัก ยิ่งบอกว่า “โรคลูปัส” คงยิ่งงงๆ คิ้วขมวดกันใหญ่ แต่ถ้าบอกว่าทั้ง 2 โรคนี้ ก็คือ “โรคพุ่มพวง” ล่ะก็คงร้องอ๋อตามๆ กัน เพราะเมื่อในอดีตนั้นโรคเอสแอลอีได้คร่าชีวิตนักร้องลูกทุ่งคนดังอย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ไปอย่างไม่มีวันกลับ จึงทำให้ประชาชนต่างเรียกขานโรคชนิดนี้ว่า “โรคพุ่มพวง”
ไม่เพียงเท่านี้ในปัจจุบันยังมีข่าวออกมาให้ได้ยินเป็นระลอกว่ามีนักแสดง อาทิ อัจฉรา ทองเทพ อดีตนักแสดงชื่อดัง ที่ต้องรักษาตัวด้วยการกินยาถึงวันละ 42 เม็ด ต่อวัน และคุณแมงมุม ม.ร.ว. ศรีคำรุ้ง ยุคล และอีกมากมายที่ป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน
โรคนี้คืออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร ยังเป็นปริศนาที่คาใจหลายๆ คน…วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านมาร่วมไขปริศนา “โรคเอสแอลอี” ไปพร้อมๆ กันค่ะ
โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากคำว่า Systemic Lupus Erythematosus หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรคลูปัส ซึ่งจัดเป็นโรคในกลุ่มไขข้อชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เรียกว่า แอนติบอดี้ (Antibodies) ซึ่งปกติจะทำหน้าที่ต่อสู้กับเหล่าร้ายอย่างเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ จากภายนอกร่างกาย กลับมาแปรเปลี่ยนเป็นต่อต้านและทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสียเอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า แพ้ภูมิตนเอง จนทำให้อวัยวะเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง
ถึงแม้วงการแพทย์จะให้ความสนใจและศึกษาโรคนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า โรคชนิดนี้เกิดจากสาเหตุอะไร จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย คือ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนเพศหญิง ภาวะติดเชื้อบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อไวรัส แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นเชื้อไวรัสชนิดไหน พบแต่เพียงกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่มีโอกาสป่วยด้วยโรคชนิดนี้ คือ ผู้หญิงอายุระหว่าง 20 – 45 ปี และพบมากสุดอยู่ในช่วงอายุประมาณ 30 ปี และพบผู้หญิงเป็นโรคเอสแอลอี มากกว่าผู้ชายถึง 9 เท่า โรคเอสแอลอี นี้ พบได้ในคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก และสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุอีกด้วย
ผู้ป่วยด้วยโรคชนิดนี้ โดยทั่วไปแล้ว จะมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ จิตใจหดหู่ นอกจากนี้ยังแสดงอาการได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจาก เอสแอลอี เป็นโรคที่มีความสลับซับซ้อน จึงมีลักษณะอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน เริ่มที่อาการทางผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีผื่นเกิดที่บริเวณใบหน้า ตั้งแต่บริเวณสันจมูกไปที่บริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง เป็นรูปคล้ายผีเสื้อ นอกจากนี้ผู้ป่วยมักจะมีผื่นขึ้นหรือมีอาการคันเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด หรือมีผื่นเป็นวงๆ เป็นแผลเป็นตามหน้า หลังศีรษะ และใบหู หรือมีอาการปลายมือปลายเท้าขาว ซีดเขียว เวลาโดนความเย็นผู้ป่วยบางรายจะมีแผลเป็นๆ หายๆ ในปาก
บางคนมีอาการทางข้อและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อนิ้วมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า อาจมีอาการบวมแดงร้อนร่วมด้วย อาจทำให้ข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างได้ แต่จะไม่ถึงกับทำลายข้อ ดังเช่นในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นอกจากนี้อาจมีอาการปวด หรืออักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายแสดงอาการทางไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการอักเสบได้บ่อย ผู้ป่วยที่มีไตอักเสบ จะมีอาการบวมบริเวณเท้า 2 ข้าง หน้า หนังตา หรือบวมทั้งตัว รายที่มีอาการรุนแรงขึ้นจะมีความดันโลหิตสูงขึ้น มีปัสสาวะออกน้อยลง หรือมีปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ในรายที่เป็นรุนแรงมากอาจถึงขั้นไตวายได้
หากผู้ป่วยแสดงอาการทางระบบประสาท จะมีการอักเสบของสมอง ชัก พูดเพ้อเจ้อ เอะอะโวยวาย คลุ้มคลั่งคล้ายคนโรคจิต จำญาติพี่น้องไม่ได้ และมีการอักเสบของเส้นประสาทเฉพาะที่ร่วมด้วยได้ ในรายที่มีอาการทางระบบโลหิต บางครั้งมีการทำลายเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกร็ดเลือดทำให้มีอาการโลหิตจาง ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืดจะเป็นลม หรือมีเม็ดเลือดขาวต่ำลง หรือเลือดออกง่ายได้
อาการทางหัวใจและหลอดเลือด เมื่อมีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ บางครั้งมีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติถ้ามีการอักเสบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ จะมีอาการของการขาดเลือดของอวัยวะนั้นๆ เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเอสแอลอีบางราย อาจมีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงตามอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถแสดงอาการในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบาก การดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ผิดปกติ บางครั้งมีตับอ่อนอักเสบร่วมด้วยได้
คนที่มีอาการดังกล่าวอย่าเพิ่งตกใจไป เพราะโรคเอสแอลอีนั้นนอกจากการสังเกตอาการข้างต้นแล้ว ยังต้องวินิจฉัยร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากโรคอื่น หรือผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม โรคชนิดนี้ เมื่อเป็นแล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด พยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด ถ้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะจะทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่างๆ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญผู้ป่วยเอสแอลอีมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระหวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้อื่นที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด พยายามไม่อยู่ในที่ผู้คนแออัด และรับประทานแต่อาหารที่สะอาดและต้มสุกแล้ว
ไม่เพียงเท่านี้ ยังต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรคและผลการรักษาแพทย์จะได้พิจารณาให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาบ่อยๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ไม่ควรซื้อยารับประทานเองและไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา
หากมีอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์อื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาประจำที่รับประทานอยู่ นอกจากนี้ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดเพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ควรเลี่ยงใช้วิธีอื่นๆ แทนโดยการปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อ พ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
ถึงแม้ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถไขปริศนาการกำเนิดของ “เอสแอลอี” จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ดังนั้น สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือ การเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รักษาสุขอนามัยให้ดี ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ ส่งผลให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเข้มแข็ง เพื่อเป็นเกราะป้องกันคุ้มครองเราจากโรคร้ายต่างๆ ได้ค่ะ
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 23-06-52