‘ไขมันหมู’ ไบโอดีเซลแก้วิกฤติพลังงานชุมชน
แม้วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินได้ปรับตัวลงแล้ว แต่วิกฤติด้านพลังงานเชื้อเพลิงยังคงเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลในอนาคต พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน คือความหวังใหม่เช่นเดียวกับไบโอดีเซลที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
สถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นอีกหน่วยงานที่เห็นความสำคัญเรื่องของพลังงานทดแทน จึงริเริ่มโครงการผลิตไบโอดีเซลขึ้นใช้สำหรับรถสายตรวจ ตั้งแต่ปลายปี 2550 โดยการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาสกัดเป็นไบโอดีเซลในระยะเริ่มแรก จากการทำงานอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมาลงตัวที่การผลิตไบโอดีเซลจากไขมันหมูแบบครบวงจร ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากในท้องถิ่น
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการจัดอบรมให้ความรู้ในการผลิตไบโอดีเซลจากไขมันหมูแบบครบวงจร และสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการจัดซื้ออุปกรณ์ แก่ทางสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ โดยวางเป้าหมายเพื่อผลิตใช้เองแล้ว ยังต้องการขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียง
วันนี้หากใครไปถึงสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิจะเห็นโรงผลิตไบโอดีเซลขนาดเล็ก ที่สามารถผลิตไบโอดีเซลจากไขมันหมูได้ 1,500 ลิตรต่อเดือน และไบโอดีเซลที่ได้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถสายตรวจในการออกตรวจพื้นที่ของสถานีตำรวจแห่งนี้ นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานได้แล้ว ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจพื้นที่ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณในการซื้อน้ำมันอีกด้วย
ด.ต.มนัส จันทร์ณรงค์ ผู้ดูแลการผลิตไบโอดีเซลที่ สน.รัตภูมิ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการว่า เริ่มแรกทางโรงพักมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วอยู่ก่อน แต่เนื่องจากน้ำมันพืชใช้แล้วมีราคาแพง จึงมองหาวัถุดิบใหม่ ซึ่งทาง รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร และนายทรงธรรม โพธิ์ถาวร นักวิจัยด้านไบโอดีเซล จากมหาวิทยาสงขลานครินทร์ ได้มาอบรมการผลิตไบโอดีเซลจากไขมันหมู
เนื่องจากในอำเภอรัตภูมิ มีโรงชำแหละหมูอยู่มาก ราคาถูกกว่า และตรวจสอบค่ามาตรฐานไบโอดีเซลให้ได้ตรงตามมาตรฐานค่าน้ำมันที่กำหนดไว้ โครงการไบโอดีเซลจากไขมันหมูแบบครบวงจรที่ สน.รัตภูมิ กำลังดำเนินการอยู่นี้ ด.ต.มนัสบอกว่า โรงพักนำไบโอดีเซลที่ได้มาใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 50 ต่อ 50 จึงทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนในการออกตรวจพื้นที่
นอกจากนี้ยังขยายผลไปถึงโรงงานที่ใช้รถโฟล์กขนของในละแวกใกล้เคียง ให้หันมาใช้ไบโอดีเซลที่ผลิตเอง พร้อมกับนำไปใช้กับรถต่างๆ เป็นการสาธิตให้ชาวบ้านได้เห็นถึงประสิทธิภาพ เพราะอย่างไรเสียก็ยังมีคนหลายกลุ่มที่ยังแคลงใจกับคุณภาพของไบโอดีเซล ทั้งนี้ ทางโรงพักยังเปิดโอกาสให้ชุมชนที่สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ โดยในขณะนี้มีน้องๆ ที่เป็นลูกหลานตำรวจที่โรงพักเข้ามาร่วมเรียนรู้ และเป็นกำลังหลักในการผลิตด้วย โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาทำ
“สิ่งที่ผมดีใจคือ ขณะนี้ตำรวจสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนในการผลิตไบโอดีเซลที่ไม่ใช่แบบงูๆ ปลาๆ อีกต่อไปแล้ว สามารถผลิตออกมาและใช้ได้จริง ทำให้เห็นว่าผลิตแล้วสามารถขายได้ด้วย ผมคิดว่าน่าจะนำโครงการนี้ไปต่อยอดขยายผลให้กับโรงพักทั่วประเทศ เพราะถ้าตำรวจสามารถผลิตไบโอดีเซลใช้เองได้ ข้อจำกัดในเรื่องน้ำมันในการออกตรวจพื้นที่เพื่อรักษาความสงบให้กับชาวบ้านก็จะลดลง ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับต่อไป” ด.ต.มนัสบอกถึงความคาดหวังในอนาคต
ด้านนายทรงธรรม โพธิ์ถาวร นักวิจัยด้านไบโอดีเซล และเป็นที่ปรึกษาของโครงการ เล่าถึงการเข้ามาร่วมโครงการนี้ว่า เริ่มจากการเข้ามาอบรมให้ความรู้ในการผลิตไบโอดีเซลจากไขมันหมูแบบครบวงจรแก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตรวจวัดค่ามาตรฐานที่ได้ ซึ่งแต่เดิมวัดได้ 90% จากค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ 94.5% ซึ่งสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ แต่ขณะนี้ไบโอดีเซลที่ สน. ผลิตได้วัดค่ามาตรฐานได้ 98% แล้ว ซึ่งไม่มีปัญหาในการนำไปใช้กับรถยนต์
นายทรงธรรมกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ในการผลิตไบโอดีเซลของสถานีตำรวจแต่ละครั้งมีการปล่อยน้ำเสียออกมาสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเองรู้สึกว่าโรงพักไม่ควรสร้างปัญหาให้กับชุมชน จึงมีการดำเนินการเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียแบบเบื้องต้นขึ้น ด้วยการปรับสภาพของน้ำเสียให้มีสภาพที่เป็นกลางก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีกต่อหนึ่ง
ทั้งหมดนี้คือก้าวแรกของการสร้างพลังงานทดแทนเพื่อการพึ่งตนเองโดยชุมชนอีกรูปธรรมหนึ่งที่ควรส่งเสริม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 23-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก