ไขทางออก “รถโรงเรียน : รถมรณะ” ภัยร้ายใกล้ตัว

 

“หมออดิศักดิ์” เผยพบอุณหภูมิในรถขณะตากแดดสูงถึง 42 องศา เหตุเด็ก เซลล์ตาย-เม็ดเลือดแตก-สมองบวม-เสียชีวิต เสนอ ศธ.เข้มคนขับรถ และครู คำนึงถึงความปลอดภัยเด็กเป็นหลัก ย้ำต้องมีผู้ใหญ่ดูแลเสมอ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก อาคารบำบัดน้ำเสีย ชั้น 3 โรงพยาบาลรามาธิบดี ร.ศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนจัดการความปลอดภัยในเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก แถลงข่าวเรื่อง ไขทางออก “รถโรงเรียน : รถมรณะ” ภัยร้ายใกล้ตัว ว่า จากการติดตามการรายงานการเสียชีวิตของเด็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ พบว่าเฉพาะปีนี้เกิดขึ้นแล้วถึง 3 ราย ได้แก่ กรณีตาลืมหลานไว้ในรถ น้องเอย และน้องพอตเตอร์ ถูกลืมไว้ในรถโรงเรียน สาเหตุการเสียชีวิตทั้ง 3 รายเกิดจากได้รับความร้อนสูงเกินขนาด ไม่ใช่เพราะขาดอากาศหายใจเท่านั้น ซึ่งจากการทดสอบวัดอุณหภูมิภายในรถยนต์ขณะจอดตากแดดช่วงกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง พบว่า มีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ดังนั้นหากเด็กติดอยู่เกิน 2 ชั่วโมงจะทำให้เด็กเสียชีวิตทันที เพราะความร้อนสูงเกินกว่าที่ร่างกายปรับตัวได้

“อุณหภูมิในร่างกายปกติของคนอยู่ที่ 37 องศาฯ หากอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่านี้ ร่างกายจะปรับตัว เอาความร้อนออกจากร่างกาย แต่หากเกิน 42 องศาฯ และอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการระบายความร้อนเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะไม่สามารถกำจัดความร้อนนั้นออกไปได้ มีผลทำให้เซลล์ตาย เม็ดเลือดแตก เลือดเป็นกรด สมองบวม หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด จึงอยากเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยโรงเรียนต้องฝึกอบรมคนขับรถ และครูประจำรถ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กขณะที่อยู่ในรถเป็นสำคัญ ต้องตรวจนับจำนวนเด็กขึ้น-ลงให้ถี่ถ้วน มีครูผู้ช่วยดูแลเด็กในรถเสมอ ไม่ใช่มีคนขับคนเดียว เมื่อเสร็จภาระก่อนล๊อคประตู  ดูให้ทั่วรถ ตอนหน้า ตอนกลาง ตอนหลัง ว่ามีเด็กทิ้งไว้หรือไม่ ทำเป็นแบบแผนปฏิบัติงานจนเป็นนิสัย ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก เพราะโรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่เพียงให้การศึกษา และพัฒนาผู้เรียนเท่านั้น แต่ต้องดูแลให้ได้รับความปลอดภัยในระหว่างเรียนด้วย” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การที่ ศธ.จะกำชับไปยังสถานศึกษาให้สอนวิธีการช่วยเหลือตนเองให้แก่เด็กหากติดอยู่ในรถ เช่น บีบแตร เป็นสิ่งที่ดี แต่โดยหลักการเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องถือว่าเด็กยังทำไม่ได้ แม้เด็กอาจจะทำได้ก็อาจทำในเวลาไม่เหมาะสม เช่น การสอนเปิดประตู อาจเปิดในขณะรถแล่น แต่เวลา ติดอยู่ข้างในรถ ก็เอาแต่ร้องไม่เปิดเอง  ถึงอย่างไร ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลใกล้ชิดเสมอ ซึ่งการดูแลเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่ผู้ใหญ่มองเห็นและคว้าถึง ส่วนเด็กที่มีอายุ 3-6 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็น และเข้าถึง ฉะนั้นจะต้องไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีคนเห็น และจะโทษพฤติกรรมเด็กไม่ได้

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

 

Shares:
QR Code :
QR Code