ให้ลูกน้อยเป็นอัจฉริยะด้วยการอ่าน

ความสำคัญในการใช้หนังสือ การเรียนรู้ด้านภาษาเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ตนเองพลาดที่จะสอนภาษาถิ่นให้กับลูกตั้งแต่เกิด ทำให้ลูกไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ “หน้าต่างแห่งโอกาสของลูก”ในการเรียนรู้ด้านภาษาได้ปิดลงเสียแล้ว….


ให้ลูกน้อยเป็นอัจฉริยะด้วยการอ่าน thaihealth


“ให้ลูกน้อยเป็นอัจฉริยะด้วยการอ่าน” เป็นหนังสือที่ตนเองได้มีโอกาสได้อ่านในขณะที่ยังไม่มีลูก และก็ได้ทดลองปฏิบัติจริงกับเด็กคนหนึ่ง อายุประมาณขวบครึ่ง ซึ่งตอนนั้นตนเองมีฐานะยากจนและก็ได้ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเจ้าของบ้านเปิดเป็นร้านขายหนังสือ เขาได้ให้หนังสือเล่มนี้มาอ่าน ขณะที่อ่านตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นว่า การอ่านเป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติจริงหรือ


และเมื่อตนเองมีลูก เจ้านายเก่าที่เคยให้หนังสือเล่มนี้อ่าน ก็ส่งหนังสือเล่มนี้กลับมาให้อ่านอีกครั้ง หนังสือเล่มนี้มีอายุถึง 26 ปี และได้เก็บไว้อย่างดี เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ มีเคล็ดลับมากมาย ที่บอกว่าเด็กเล็กๆ สามารถอ่านหนังสือได้ แต่ที่อ่านไม่ได้เพราะตัวหนังสือมันเล็กเกินไป


วันนี้อยากเล่าให้ฟังว่าเด็กๆ สามารถพูดได้ 5 ภาษาจริง หากเราสอนในช่วงเวลาที่เหมาะสม บางคนอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นไปได้!! ถึงแม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้สอนกับลูกตัวเอง แต่ไม่สายที่เราจะเริ่มต้นกับเด็กๆ ในชุมชน กับคนที่เราได้มีโอกาสได้ดูแลเขาต่อไป


ให้ลูกน้อยเป็นอัจฉริยะด้วยการอ่าน thaihealthดิฉันเปิดศูนย์เด็กเล็กอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ รับเด็กตั้งแต่อายุ 1-4 ขวบ ซึ่งโดยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่า แม่และครอบครัวไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง กลับต้องส่งเด็กมาให้เราดูแล เครื่องมือสำคัญที่สุดที่ใช้พัฒนาเด็ก ที่เราใช้ทั้งชีวิตในการศึกษาและทดลองใช้กับลูกของตนเอง นั่นคือ “หนังสือนิทาน” เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งทางภาษา อารมณ์ สังคม และสติปัญญา แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องใช้เวลาในการดูแล อ่านอย่างใจเย็น อ่านอย่างร่าเริง อยู่กับเด็กต้องใช้พลังเชิงบวกในการดูแลเขา ขอยกตัวอย่างหนังสือเล่มนี้ซึ่งเด็กที่ศูนย์ฯ ชอบมากคือ “อย่า! เดวิด” หนังสือเล่มนี้จริงๆ ไม่มีอะไรพิเศษเลย แต่สิ่งที่เด็กสนใจคือ ตัวหนังสือที่ใหญ่ ภาพใหญ่ เด็กสามารถอ่านได้หมดเลย แต่เป็นการอ่านแบบจดจำภาพ ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์


ที่บอกว่า “เด็กเล็กๆ อยู่นิ่งไม่ได้การดูแลเป็นเรื่องยากเหนื่อย เหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่อยากจะบอกว่า “นิทานเอาอยู่ค่ะ” เด็กจะนั่งนิ่งฟัง และฟังนานขึ้น แต่ก็จะมีเด็กหลายคนที่ไม่ฟังหรือวิ่งเล่น แต่เราก็จะใช้เวลานอกเหนือจากกลุ่มใหญ่ เอาเขามานั่งตัก สัมผัส นั่งกอด ฐานชีวิตที่สำคัญของเด็กเล็กๆ คือการสร้างความรักความผูกพันความไว้วางใจ อันนี้สำคัญมาก แต่หากเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างทอดทิ้ง เด็กจะไม่มีความรักความผูกพันความไว้วางใจกับใครเลยหากเขาโตขึ้น หนังสือนี่แหล่ะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตนเองใช้ในการเลี้ยงดูลูกเลี้ยงดูเด็ก และขณะนี้กำลังใช้แนวคิดนี้กับชุมชนต่อไป


           


 


ที่มา: แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน  นางจันทร์เพ็ญ สินสอน : บ้านเรียนพระคุณ ประธานมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน จ.สุรินทร์ กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างเสริมศักยภาพ พัฒนาการ และสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยนิทาน หนังสือ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

Shares:
QR Code :
QR Code