ใส่ใจตรวจเช็กร่างกาย ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม

ที่มา : SOOK


ใส่ใจตรวจเช็กร่างกาย  ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม thaihealth


แฟ้มภาพ


ด้วยรูปแบบการทำงานของคนยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่นั่งติดโต๊ะทำงานและจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดที่มักเริ่มจากเล็กๆ น้อยๆ ไปจนเรื้อรังและรุนแรง กลายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นก่อนจะสายเกินแก้ ลองสำรวจตัวเองและดูแลป้องกันตั้งแต่วันนี้


รู้ให้ทันโรคออฟฟิศซินโดรม


โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงานที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ นั่งทำงานตลอดเวลาโดยไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายส่งผลให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง และอาจมีอาการชาร่วมด้วยในบริเวณต่างๆ ได้แก่ หลังไหล่ บ่า แขน ฯลฯ หากปล่อยทิ้งไว้จะมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย


ต้นเหตุของความปวด


  • •นั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานด้วยท่าทางซ้ำๆ ติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
  • •ท่าทางขณะทำงานไม่ถูกต้อง เช่น นั่งหลังค่อมก้มหรือเงยคอมากไป
  • •จ้องหรือเพ่งจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ไม่พักสายตาจนปวดตา ปวดศีรษะ
  • •สภาพแวดล้อมที่ทำงานไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ อากาศเหม็นอับไม่ถ่ายเท
  • •เครียดมากเกินไปจากสาเหตุต่างๆ เช่น งานเยอะทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ


 


5 สัญญาณเตือนออฟฟิศซินโดรม


  1. ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังเฉพาะจุด บริเวณคอ บ่า ไหล่ หลัง แขน สะบัก ฯลฯ อาจปวดร้าว ปวดล้าๆ บริเวณใกล้เคียง
  2. ร่างกายมีอาการซ่า วูบ เย็น เหน็บ ยึด ขนลุก
  3. ชาแขนและมือ อ่อนแรง
  4. มึน ปวดศีรษะเรื้อรังหรือไมเกรน
  5. นิ้วล็อค ข้อมือล็อค เส้นเอ็นอักเสบ เกิดพังผืด ยึดจับ ทำให้ปวดปลายประสาท


 


ระดับความรุนแรง


ระดับที่ 1 เมื่อเกิดอาการขึ้นระยะหนึ่งพักแล้วอาการจะดีขึ้นทันที สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง


ระดับที่ 2 เมื่อเกิดอาการขึ้น พักนอนหลับแล้ว แต่ยังคงมีอาการอยู่ ดูแลด้วยตนเองและพบแพทย์


ระดับที่ 3 เมื่อเกิดอาการจะปวดมากพักแล้วอาการก็ยังไม่บรรเทา พบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง


 


6 วิธีง่ายๆ ปรับพฤติกรรมขณะทำงาน


1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้นั่งสบาย นั่งหลังตรงชิดขอบด้านในเก้าอี้


2) กึ่งกลางจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ระดับสายตา กระพริบตาบ่อยๆ พักสายตาทุกๆ 10 นาที


3) แป้นคีย์บอร์ดในการพิมพ์งานควรอยู่ระดับข้อศอก ข้อมือ


4) ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน เคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัด


5) เปลี่ยนท่าทางการทำงานทุก 20 นาที


6) ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง

 

Shares:
QR Code :
QR Code