ใส่ใจคนใกล้ชิด ป้องกันฆ่าตัวตาย
ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก
กรมสุขภาพจิตห่วงสถิติฆ่าตัวตาย แนะใส่ใจคนใกล้ชิด เน้นที่การรับฟัง
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ประจำปี 2559 (World Suicide Prevention Day 2016) ภายใต้แนวคิด “Connect. Communicate. Care. : สัมพันธ์ สื่อสาร ใส่ใจ” ว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยปี 2558 อยู่ที่ 6.47 ต่อแสนประชากร เพิ่มจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 6.08 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยเดือนละ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ซึ่งยังอยู่เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 80 ของคนที่ฆ่าตัวตายจะมีการวางแผน และแสดงพฤติกรรมก่อนลงมือ ประมาณ 2-3 วัน ร้อยละ 20 ลงมือเพราะหุนหันพลันแล่น สาเหตุมาจากปัญหาความรัก ความหึงหวง โรคซึมเศร้า น้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ถ้าทำไม่สำเร็จจะหาโอกาสลงมือครั้งต่อๆ ไป แต่หากลงมือไป 5 ครั้งแล้วยังไม่สำเร็จก็จะลดความอยากฆ่าตัวตายลงไป จึงต้องเฝ้าระวังและช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ได้ ทั้งนี้ อายุต่ำสุดที่ฆ่าตัวตายคือเด็ก 10 ขวบ สูงสุดคืออายุ 97 ปี กลุ่มที่การฆ่าตัวตายสูงสุดคือวัยแรงงานอายุ 30 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ เกษตรกร ราชการ ผู้ชายฆ่าตัวตายสูงขึ้น และสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า
ด้าน พ.อ.หญิง พญ.นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่คนสิ้นคิด และแต่เป็นเพราะสิ้นหวัง พยายามหาทางออกของตัวเองแล้ว แต่ไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในคนปกติ และผู้ป่วยจิตเวช แต่ก่อนจะลงมือฆ่าตัวตายนั้นจะมีการพยายามสื่อสารบอกคนรอบข้างมาตลอด เช่น พูดรำพึงรำพัน การฝากให้ดูแลขอที่รักมากที่สุด การเขียนจดหมาย เฟซบุ๊ก การส่งข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ ข่มขู่ตัดพ้อ หรือพูดจาสั่งเสีย หรือการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ฆ่าตัวตาย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุดที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น แต่ต้องรีบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเน้นที่การรับฟัง การทำให้เขาตั้งสติให้ได้ หรือติดต่อคนที่เขารักและไว้ใจเพื่อช่วยดึงสติกลับมา หรือโทรสายด่วน 1323