ใส่ใจก่อนตั้งครรภ์ ป้องกัน 5 โรคพิการแต่กำเนิด
การเสริมสร้างโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสม ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก สำหรับคุณแม่ ไม่ว่าจะมือใหม่หรือเก่า ที่เตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรหันมาใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพใจเพื่อลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก ด้วยร่างกายและจิตใจ ที่ปลอดภัยและสมบูรณ์
สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แถลงข่าว “ผนึกกำลังหยุดความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย” โดย ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดฯ กล่าวถึงการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจของสังคมที่มีต่อคนพิการว่า การให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันความพิการแต่กำเนิดถือเป็นเรื่องสำคัญและต้องใส่ใจให้มากขึ้น เพราะในแต่ละปีเด็กทารกเกิดปีละ 800,000 คนแต่พบผู้ป่วยพิการแต่กำเนิด 24,000-40,000 คน คิดเป็น 1 ต่อ 1000 สำหรับสาเหตุของโรคเกิดจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ด้านโภชนาการเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อความพิการ ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถป้องกันได้
ศ.พญ.พรสวรรค์ บอกเพิ่มเติมว่า 5 กลุ่มโรคพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย คือ โรคหลอดประสาทไม่ปิด อาการปากแหว่งเพดานโหว่ ดาวน์ซินโดรม แขนขาพิการแต่กำเนิด และกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์ เป็น 5 โรคที่มีภาระโรคชัดเจน อย่างโรคหลอดประสาทไม่ปิด ที่อาจเกิดจากทั้งพันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่าง เช่น การกินยาบางชนิด ทั้งยาโรคลมชัก ยารักษาสิว ที่เป็นสาเหตุรบกวนการสร้างตัวอ่อนทำให้เกิดหลอดประสาทไม่ปิด ถ้าหลอดประสาทตรงกระดูกสันหลังไม่ปิด อาจทำให้เด็กเดินไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ช่วงแรก ภายใน 24 ชั่วโมง อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
“สาเหตุหนึ่งที่สำคัญเกิดจาก การขาดสารที่จำเป็นอย่าง วิตามินโฟเลท เหล็ก ไอโอดีน เพราะสารอาหารเหล่านี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบหลอดประสาทปิด นอกจากนี้โฟเลทยังมีส่วนสำคัญต่อการ สร้างเสริม dna ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายและระบบประสาท จริงๆ แล้ว ความพิการแต่กำเนิดป้องกันได้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม หญิงวัยเจริญพันธุ์อยู่ในช่วง 25-35 ปี การวางแผนครอบครัวและตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าตั้งครรภ์เมื่ออายุมากควรขอคำปรึกษาจากแพทย์” ศ.พญ.พรสวรรค์
นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดฯ บอกว่า สำหรับการแก้ปัญหา ส่วนของภาครัฐ อยากให้เห็นความสำคัญในการสร้างระบบการรักษาแบบองค์รวม เริ่มต้นตั้งแต่ การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษา ติดตามผล และแนะนำการปฏิบัติตนหลังการรักษา และอยากให้บรรจุสารอาหาร โฟเลท เหล็ก ไอโอดีน อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนและผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม และอัตราการเกิดโรคพิการแต่กำเนิดมีจำนวนน้อยลง นอกจากนี้ทางสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดฯ ได้ร่วมกับ 8 โรงเรียนแพทย์ ทำคู่มือสำหรับใช้เป็นแนวทางในการทำความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนให้ถูกวิธีขึ้น
ด้านสุมณฑา โพธิ์อ่อน อายุ 40 ปี แม่ของ ด.ญ.นัฐกาญจน์ โพธิ์อ่อน หรือ น้องอิน เด็กน้อยวัย 5 ขวบ ที่ป่วยเป็นโรคหลอดประสาทไม่ปิดตั้งแต่กำเนิด บอกว่ามีลูกคนแรกเมื่ออายุ 36 ปี เมื่อตั้งครรภ์ก็ไม่อาการผิดปกติอะไร เมื่อเข้าเดือนที่ 3 น้ำหนักตัวไม่ขึ้น จึงขอคำปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ด้วย แต่ก็ไม่ได้รับคำแนะนำอะไร จึงตัดสินใจย้ายโรงพยาบาล และอัลตราซาวด์ จึงพบว่า เป็นโรคหลอดประสาทไม่ปิด เมื่อคลอด น้องมีถุงน้ำที่หลัง มีน้ำในสมอง น้ำหนักตัวไม่ขึ้น และยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไตด้วย แต่ได้รับการรักษาและการประสานงานของโรงพยาบาลที่รวดเร็วทำให้สมองของลูกไม่เสียหายมากนัก
“ปัจจุบันน้องจะมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ และไม่มีกำลังขา ทำให้ไม่สามารถเดินไม่ได้ ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน จากการสังเกตพัฒนาการของลูก เห็นได้ว่า อุปกรณ์ช่วยเดินทำให้ น้องอิน มีกำลังขาที่แข็งแรง ระบบกระเพาะอาหารดีขึ้น และที่สำคัญสังเกตได้ว่า น้องมีพัฒนาการดีขึ้นกว่าเดิม” แม่ผู้เข้มแข็งยังบอกทิ้งท้าย
ที่มา : พิมพ์ชนก ศรเพชร team content www.thaihealth.or.th