‘ใบหน้ากระตุก’ เสียบุคลิก

รักษาถูกวิธี…ฟื้นความมั่นใจ

 

‘ใบหน้ากระตุก’ เสียบุคลิก

ใบหน้า ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นปราการด่านแรกในการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี ดังนั้นทุกคนจึงพยายามดูแลรักษาใบหน้าของตนเองให้สดใสสวยงาม แต่หากใครบางคนมีใบหน้าอยู่ในสภาวะ กระตุกคงทำให้เกิดความรู้สึกขาดความมั่นใจไม่น้อย

 

พันเอก นายแพทย์ สิรรุจน์ สกุลณะมรรคา ประสาทศัลยแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดใบหน้ากระตุกให้ฟังว่า อาการใบหน้ากระตุก ส่วนใหญ่มักเป็นข้างเดียว และส่วนที่กระตุกจะอยู่นอกเหนือการ ควบคุม บางครั้งก็เห็นได้ชัด บางครั้งมองไม่เห็นเพียงแค่เจ้าตัวรู้สึกเท่านั้น มีทั้งแบบที่เป็นชั่วคราวแล้วหายเอง และแบบที่เป็นถาวร พบได้ทั้งหญิงและชาย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่า โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40-70 ปี

   

ลักษณะของใบหน้ากระตุก คือ การที่กล้ามเนื้อ  ที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเกิดอาการกระตุกนอกเหนือการควบคุม โดยอาการแรกเริ่มจะเริ่มจากการกระตุกของใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งเพียงเล็กน้อยก่อน เริ่มจากที่เปลือกตาด้านล่างก่อน แล้วกระจายมาที่เปลือกตาด้านบน จากนั้นจะลามมาที่แก้มและมุมปาก ในบางครั้งเป็นมากขึ้นอาจจะลามไปถึงคอได้ หรือในบางรายอาจจะไม่ได้เรียงลำดับการเกิดอย่างที่กล่าวมาก็ได้

   

ใบหน้ากระตุก เป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแดงในสมองบริเวณแถบก้านสมองเกิดการคดงอเนื่องจากอายุที่มากขึ้น จึงทำให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว หลอดเลือดที่คดงอนี้จะไปสัมผัสกับเส้นประสาทที่มาควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมอง คู่ที่ 7 ที่อยู่ติดกับก้านสมอง

   

เมื่อเส้นเลือดเต้นตามจังหวะหัวใจ หลอดเลือดจะกระแทกเส้นประสาทนี้ทำให้เส้นประสาทส่งกระแสประสาทนอกเหนือการสั่งของสมอง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ในด้านนั้นเกิดอาการเขม่น กระตุกอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้

   

โรคนี้ไม่ได้ทำได้เกิดการเป็นอัมพาต และอัมพฤกษ์ รวมทั้งไม่ได้เป็นโรคอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้ผู้ที่เป็นเกิดความรำคาญ เสียบุคลิก รบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน เมื่อมาตรวจ แพทย์จะซักประวัติเพื่อแยกโรคใบหน้ากระตุกออกจากกลุ่มที่เป็นโรคนอกเหนือจากหลอดเลือดที่ไปสัมผัส หรือกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 7 เช่น โรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกบริเวณก้านสมอง โรคเปลือกตากระตุก หรือกล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น เพราะสาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคแตกต่างกัน โดยเริ่มจากการให้ยาไปทาน ถ้าทานยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะทำการเอกซเรย์ เอ็ม อาร์ ไอ สมองเพื่อแยกโรค

   

            สำหรับโรคที่คล้าย ๆ กัน ได้แก่ เปลือกตาเขม่น  ซึ่งมีปัจจัยภายนอกกระตุ้นได้หลายปัจจัย เช่น ร่างกายอ่อนล้า เครียด มีภาวะการอดนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้ง  การใช้สายตามากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมากไป จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้ โดยโรคสามารถหายเองได้ เมื่อตัดปัจจัยกระตุ้น

   

โรคใบหน้ากระตุก เมื่อเป็นแล้ว การรักษาสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน เริ่มจาก  การรักษาด้วยยา โดยใช้ยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งยาที่รักษาได้ผลดีจะเป็น กลุ่มยากันชัก รวมทั้งยากดการทำงานของเส้นประสาท เพื่อลดการส่งกระแสที่ผิดปกติ ซึ่งอาจจะมีฤทธิ์ข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ทำให้ง่วงนอนได้

   

ผู้ป่วยจะต้องทานยาไปเรื่อย ๆ เพื่อลดอาการจนกระทั่งดีขึ้น มีอาการใบหน้ากระตุกน้อยลง สำหรับปริมาณยาที่แพทย์จะให้กับผู้ป่วย นั้น จะเริ่มให้จากปริมาณ   น้อยก่อน จากนั้นจะเพิ่มยาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงในระดับที่สามารถควบคุมโรคได้ หรือ บางรายอาจจะต้องเพิ่มยามากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

   

การรักษาอีกวิธีหนึ่ง คือ การฉีดยาเฉพาะที่ เพื่อระงับการแพร่กระจายของกระแสประสาทที่ไปสู่กล้ามเนื้อ เป็นการยับยั้งกล้ามเนื้อกระตุก วคราว ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกันกับยาที่ฉีดให้หน้าตึง การฉีดยาลบรอยย่นหรือลดการเกร็งแขน ขา โดยระยะเวลาในการฉีดจะห่างกันประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งการฉีดในแต่ละครั้งจะต้องฉีดหลายจุด ตามตำแหน่งที่มีการกระตุก การรักษาด้วยการฉีดยา มีข้อจำกัดอยู่ที่ หากมีการฉีดยามากเกินไป ก็อาจทำให้หน้าเบี้ยว หนังตาตกได้ รวมทั้งมีค่าใช้จ่าย  ในการรักษาที่ค่อนข้างสูง

   

สุดท้ายของการรักษาโรคใบหน้ากระตุก คือ การผ่าตัดสมอง เป็นการรักษาเพื่อเขี่ยหลอดเลือดที่สัมผัสกับเส้นประสาทออก โดยจะทำการผ่าตัดที่บริเวณหลังใบหู การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการแก้ไขที่ตรงจุดและถาวร แต่  ผู้ป่วยที่เป็นมักรู้สึกไม่ดีกับการผ่าตัด และอาจมีความเสี่ยงเหมือนการผ่าตัดสมองทั่ว ๆ ไป เช่น มีเลือดออกหลังผ่าตัด แผลติดเชื้อ การ  ได้ยินลดลง เพราะทำการผ่าตัดที่บริเวณใกล้เส้นประสาทหู โดยรวมอาการแทรกซ้อนพบได้ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม อัตราการหายขาดเป็นที่น่าพอใจมาก อยู่ที่ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์

   

การดูแลตัวเองสามารถทำได้โดยหากพบว่าตนเองมีอาการในลักษณะเช่นนี้ควรรีบพบแพทย์ ประการแรก คือ มี การเขม่นของใบหน้า หรือตา เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 1-3 สัปดาห์ ประการต่อมา ใบหน้า ตา กระตุกหรือเขม่น ร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาทอื่น เช่น หนังตาบน หนังตาล่าง แก้ม ใบหน้าชาหรือแสบ ใบหน้าเบี้ยว หนังตาตก ใบหน้าเคลื่อนไหวผิดปกติ บิดเบี้ยว รวมทั้งมีการกระตุกของส่วนอื่นในร่างกายร่วมด้วย ตลอดจน อาการที่มีลักษณะเปลือกตาปิดสนิทเมื่อมีอาการตาเขม่น รวมทั้ง ใบหน้า หรือตากระตุก หรือเขม่น ร่วมกับตาบวมแดง

   

ถ้ามีอาการใบหน้ากระตุกอย่าตกใจ ต้องทำการแยกโรคก่อนเป็นลำดับแรก ว่าเราจัดอยู่ในกลุ่มโรคใด เพื่อจะได้รักษาอย่างถูกต้อง แม้จะเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษา อาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วยได้ แม้ไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาได้ โดยที่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หลังจากการรักษา.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update: 21-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

Shares:
QR Code :
QR Code