ในหลวง ‘ร.9 และ ร.10’ ทรงให้ความสำคัญ ‘การศึกษา พัฒนาคน’
ที่มา : แนวหน้า
ภาพจากแนวหน้า
“ดาวพงษ์”ปาฐกถาเรื่อง “ครูดี…พลังแห่งแผ่นดิน” ยกพระราโชบาย ในหลวง ร.9 และร.10 ทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษาและการพัฒนาคน
16 ม.ค. 61 ที่หอประชุมคุรุสภา พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ร่วมปาฐกถา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 1 เรื่อง “ครูดี…พลังแห่งแผ่นดิน” ตอนหนึ่งว่า ร.10 ทรงมอบหมายงานให้องคมนตรี ชุดหนึ่งเพื่อไปทำต่อ และทรงรับสั่งไว้ว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ตลอด 70 ปี เป็นคุณูปการที่ทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ต้องไปดูแลรักษาไว้ เพื่อไม่ให้เสื่อมโทรม องค์มนตรีก็จะต้องไปดูแลโครงการในพระราชดำริต่างๆอย่างต่อเนื่อง
พล.อ.ดาวพงษ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านไม่เคยทอดทิ้งโครงการของในหลวงรัชการที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และของสมเด็จย่า สักโครงการ ท่านทรงงานต่อ และโปรดเกล้าฯให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตวนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงงานต่อ แสดงว่า พระองค์ท่านทรงรับรู้ รับทราบว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะส่ิงที่ทุกพระองค์ทรงทำนั้นเพื่อประชาชนทั้งสิ้น
วันนี้ตนจะพูดถึงพระราโชบายด้านการศึกษา เรื่องสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และเรื่อง “ครูดี…พลังแห่งแผ่นดิน” ในยุคนี้ว่า ควรจะเป็นอย่างไร ในมุมมองและประสบการณ์ของตน และจะพูดถึงการถวายงานด้านการศึกษาใน 1 ปี จากการลงพื้นที่
ซึ่งจากพระบรมราโชบายของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานไว้ในปี 2510 ว่า เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้วว่า บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก และพระองค์ท่านก็ติดท้ายไว้ว่า เราจะต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็ง
ตนกำลังจะชี้ให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์อย่างมาก และเมื่อ 2 ปีช่วงที่ตนเป็นรัฐมนตีว่าการกระทรงทรัพยากรธรรมชาติ ในการประชุมร่วมกับ UN ที่ตื่นเต้นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แต่ในขณะที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา ท่านทรงพูดไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า โลกเราจะร้อนขึ้น จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงทราบล่วงหน้าและทรงสนพระทัยเรื่องนี้ด้วย และท่านทรงสนพระทัยเรื่องการศึกษาคน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว
ส่วนพระราโชบายของรัชกาลที่ 10 ด้านการศึกษา ซึ่งท่านทรงรับสั่งไว้หลายเรื่อง โดยสรุปที่พระองค์ทรงรับสั่งสั้นๆกับตนเองว่า การศึกษาคือ ความมั่นคงของประเทศ ซึ่งก็ตรงกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว 6 ด้าน ว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร เช่น ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ความเสมอภาคและเท่าเทียม การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับสมดุลรัฐธรรมนูญการบริหารภาครัฐ ซึ่งรัชกาลที่ 10 ท่านทรงเน้นตรงกลาง คือ เรื่องการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการศึกษา พระองค์ท่านต้องการสร้างให้คนไทยมีคุณสมบัติ 4 ด้าน คือ
1.มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง
2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง
3.มีงานทำ มีอาชีพ
4.เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย เฉพาะนั้นการศึกษาต้องสร้างคนให้เป็นแบบนี้
ส่วนพระราโชบายของรัชกาลที่ 10 พระราชทานเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2560 ในโอกาสที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) 38 แห่งทั่วประเทศเข้าเฝ้า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเห็นว่า มรภ.ตั้งมาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆจึงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนต่างจังหวัดได้ ประกอบกับพระองค์ท่านทรงคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเนื่องจากทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรมา 30 กว่าปี ตั้งแต่เป็นพระบรมโอรสาธิราช จนวันนี้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ยังทรงเสด็จฯอยู่ ทรงมองเห็นศักยภาพของราชภัฎ
ทรงมองเห็นว่า ราชภัฎบางแห่งกำลังออกนอกลู่นองทาง ทรงเห็นว่า ราชภัฎบางแห่งกำลังพัฒนาผิดทาง และทรงเห็นว่า ราชภัฎหลายแห่งกำลังทำไม่ตรงหน้าที่ตนเอง พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ตนและองค์มนตรี ที่เกี่ยวข้อง ให้ไปช่วยดูแล ขณะนี้ตนไปเยี่ยม มรภ.แล้ว 19 แห่ง ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้หันกลับไปดูหน้าที่ของตนเองใหม่ หันกลับมาดูหน้าที่ตามกฏหมายของตนเองใหม่ หันกลับมาดูท้องถิ่นของตนเองใหม่อย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว เชื่อว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยราชภัฎก็จะทำอาชีพของตนเองให้ดีขึ้น
“ส่ิ่งที่อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฎกลับตัวและหันกลับมามองมากที่สุด 2 เรื่อง คือ เรื่องท้องถิ่น และการผลิตครู จากที่ได้หารือกันก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะให้ตรงกับท้องถิ่นต้องการ และประเทศต้องการ” พล.อ.ดาวพงษ์ กล่าว
องค์มนตรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงสนใจด้านการศึกษามานานแล้ว ทรงตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเมื่อปี 2552 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชทานทุนการศึกษาให้เด็กยากจน เรียนจนจบปริญญาตรีทุกปี แต่ปรากฏว่า เด็กที่รับทุนไม่เป็นไปตามที่พระองค์คาดหวังว่า จบแล้วมีงานทำ จบแล้วช่วยท้องถิ่นบ้านของตนเอง และมีเด็กหลายคนเรียนไม่จบ บางคนท้อง บางคนออกกลางคัน บางคนเกเร แต่ส่วนที่สำเร็จก็มีอยู่ ในปีนี้ พระองค์ทรงให้ตั้งกติกาใหม่ เพื่อให้เด็กที่รับทุนมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยให้เด็กและพ่อแม่เด็กที่รับทุนเซ็นสัญญา หากผิดกติกาก็จะต้องใช้ทุนคืน ซึ่งเด็กและพ่อแม่ก็ยอม เพราะถือว่า ได้รับโอกาสที่ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนภาคบ่าย เวลา 13.00 น. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติระดับประเทศ มีครูภาษาไทยดีเด่น รับรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติจารึกพระนามาภิไธยย่อ “สธ”, รางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น, รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติจารึกพระนามาภิไธยย่อ “กว.”, รางวัลคุรุสภา ระดับยกย่อง, รางวัลครูผู้สอนดีเด่นตามกลุ่มสาระการเรียนรู้, รางวัลผลงาน “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม”, รางวัลผลงานวิจัยของคุรุสภา, รางวัลประกวดสื่อส่งเสริมจรรยาบรรณของวิชาชีพ ประจำปี 2560, ผู้ชนะการประกวดข้อเขียน, ผู้ชนะการประกวดถ่ายภาพ,ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและนักเรียนที่ได้รับทุนมูลนิธิทวีบุญยเกตุ และมอบรางวัล “ครูดีในดวงใจ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันที่ 17 มกราคมเวลา 10.00-12.00 น. ที่หอประชุมคุระสภา นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ เสวนาทางวิชาการ เรื่อง “อย่างไร…ครูไทยจะทันการเปลี่ยนแปลง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา นายปิยะบุตร ชลวิจารย์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, รศ.องอาจ นัยพัฒน์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2560 น.ส.พรรณริณี ทิมา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโซลูชั่น กูเกิล(ประเทศไทย) นายจักรพงศ์ จันทวงศ์ ครู โรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์ปถัมภ์ จ.เชียงใหม่
เวลา 13.30 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ประจำปี 2560 และรางวัลคุรุสดุดี