ใช้โซเชียลอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ให้สัมภาษณ์โดย ศ.นพ.รณชัย  คงสกนธ์  นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 


ข้อมูลบางส่วนจาก งานวิจัย เรื่อง บทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊คต่อการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิเด็กของสำนักข่าวออนไลน์ และ เรื่อง จริยธรรมนักข่าวพลเมืองในการนำเสนอข่าวเด็กผ่านสื่อสังคมออนไลน์


ภาพโดย นัฐพร  ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


ใช้โซเชียลอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก  thaihealth


เป็นที่ฮือฮา ไม่แพ้ข่าวหน้าหนึ่งหรือข่าวดราม่าบนโลกออนไลน์ เมื่อเหล่าสถาบันวิชาชีพ หรือองค์กรต่างๆ ที่กำกับดูแลเรื่องการทำงานของสื่อ ออกมาติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวที่ ‘ละเมิดสิทธิเด็ก’ นับว่ามีความรุนแรงและส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านทั้งต่อตัวเด็กเอง ครอบครัว รวมถึงสังคม


จะว่าไป เราจะเห็นข่าวประเภทนี้อยู่เป็นประจำ จนหลายคนเคยชิน นำไปสู่การเพิกเฉย และกลายเป็นเรื่องปกติในที่สุด แต่แท้จริงแล้ว ข่าวเด็กที่นำเสนอออกไปกลับส่งผลกระทบมหาศาล จนหลายฝ่ายต้องเร่งทำความเข้าใจ ยิ่งในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ ที่นอกจากสื่อกระแสหลักแล้ว สื่อพลเมืองอย่างประชาชนทั่วไป เมื่ออำนาจสื่ออยู่ในมือ ก็สามารถแชร์ อัพโหลดข้อมูล ขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ได้เพียงมีอุปกรณ์มือถือ  และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ยิ่งมีการละเมิดสิทธิมากขึ้น


ล่าสุด เกิดการพูดคุยประเด็นดังกล่าวผ่านเวทีเสวนา เรื่อง “สื่อ” ข่าวเด็กอย่างไร? ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจร่วมกันถึงผลกระทบและแนวทางปฏิบัติในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวน้อยที่สุด


ใช้โซเชียลอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก  thaihealth


เด็ก หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ซึ่งอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)  ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของเด็กไว้ 4 ประการ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา  สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง  และสิทธิในการมีส่วนร่วม


จากคำนิยามข้างต้น เป็นสิ่งที่การันตีว่า เด็ก ต้องได้รับความคุ้มครองและปกป้อง การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเด็กจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากกว่าข่าวประเภทอื่นๆ นั่นเอง


ใช้โซเชียลอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก  thaihealth


จากงานวิจัยเรื่อง บทบาทหน้าที่ของปฏิกิริยาตอบกลับของผู้ใช้เฟซบุ๊คต่อการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิเด็กของสำนักข่าวออนไลน์ โดย ปาจารีย์  ปุรินทวรกุล  ซึ่งเป็นการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน โดยการสนับสนุนจาก สสส. พบว่า การนำเสนอข่าวเด็กของสื่อมวลชนในปัจจุบันโดยเฉพาะการนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์  ยังมีการแสดงบทบาทหน้าที่ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ในรูปแบบบทบาทหน้าที่ที่ไม่พึงปรารถนา  คือ การไม่ทำหน้าที่  และการทำหน้าที่ในทางที่ผิด  ด้วยการละเมิดสิทธิเด็ก  โดยประเด็นที่มีปริมาณสูงสุด 3 อันดับแรก คือ การทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก  การไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็ก  และการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่จะทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์ 


ใช้โซเชียลอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก  thaihealth


“เด็กจะเกิดภาวะ เครียด วิตกกังวลอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ  ท้องเสีย คลื่นไส้ หรือบางราย เด็กอาจฝันร้าย นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และอาจจบด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นต้น”  ศ.นพ.รณชัย  คงสกนธ์  นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย  เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว  การฟื้นฟูเยียวยาในเด็กเป็นเรื่องที่ยากมาก หากเกิดขึ้นแล้ว เด็กจะไม่ปกติ จึงต้องอาศัย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นจิตบำบัด โดยใช้ระยะเวลานานมาก เป็นการปรับสภาพความคิด ให้กลบความเครียด ขั้นต่อมา คือ การใช้ยา และขั้นสุดท้าย คือการเยียวยาด้วยกระบวนการทางสังคม โดยไม่ไปตอกย้ำและกระทำซ้ำอีก


ใช้โซเชียลอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก  thaihealth


ทำอย่างไร หากต้องนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ?


            เทียนทิพย์ เดียวกี่ ได้ระบุแนวทางจริยธรรมในการนำเสนอข่าวเด็กของนักข่าวพลเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม 4 ด้าน ประกอบด้วย เนื้อหา รูปภาพ เสียง และการได้มาของข่าว โดยผ่านงานวิจัยเรื่อง จริยธรรมนักข่าวพลเมืองในการนำเสนอข่าวเด็กในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้นักข่าวพลเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ ปฏิบัติสอดคล้องตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณที่เหมาะสม  10 ประการ  คือ


ด้านเนื้อหา


1. ในกรณีที่เป็นข่าวด้านลบ นำเสนอ ชื่อ-สกุล ของเด็กเป็นนามสมมุติ หากเป็นข่าวด้านบวก สามารถเปิดเผยข้อมูลได้


2. นำเสนอที่อยู่ของเด็ก ให้กว้าง ไม่ลงรายละเอียด ที่สามารถรู้ได้ว่าเด็กเป็นใคร อาศัยอยู่ที่ใด เช่น ตำบล หมู่บ้าน บ้านเลขที่


3.ไม่เปิดเผยตัวตนและข้อมูลของญาติ หรือ หรือ ผู้ที่สามารถทำให้ทราบได้ว่าเด็กเป็นใครอย่างชัดเจนโดย ชื่อ ให้ใช้เป็นนามสมมุติ และ ที่อยู่ ให้ระบุให้กว้างๆ


4.พึงระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาที่รุนแรง ไม่อธิบายรายละเอียดแบบเจาะลึก ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ให้เกิดความอับอาย


5.นำเสนอเนื้อหา ข้อมูลให้ถูกต้อง ไม่เต้าข่าว


ด้านรูปภาพ


6.หากเป็นข่าวด้านลบ ห้ามเผยแพร่ภาพของ เด็ก โดยตรง หรือภาพที่ทำให้เกิดความอับอาย ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ต้องใช้ภาพตัวแทน ,ใช้มุมกล้อง หรือนำเสนอวิธีอื่น เช่น กราฟิกหรือ การ์ตูน เป็นต้น หากเป็นข่าวด้านบวก สามารถเปิดเผยข้อมูล และภาพเด็กได้


7.หากเป็นข่าวด้านลบ ปิดบังใบหน้า และข้อมูลของญาติ หรือ ผู้ที่สามารถทำให้ทราบได้ว่าเด็กเป็นใครอย่างชัดเจน


ด้านเสียง


8.เสียงสัมภาษณ์ของเด็ก พึงดัดแปลง ไม่ให้รู้ว่าเป็นเสียงของเด็กคนใด ห้ามนำเสนอเสียงสัมภาษณ์จริง


ด้านการได้มาของข่าว


9.หลีกเลี่ยงคำถามที่เกี่ยวกับความรู้สึกหรือกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็ก


10.ถามความสมัครใจของเด็ก ก่อนสัมภาษณ์ หากเด็กอยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ ต้องถามความสมัครใจจากผู้ปกครอง


ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อประเภทต่างๆ การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในปัจจุบัน ข้อมูลมีจำนวนมหาศาล การโพสต์ การแชร์ จึงจำเป็นต้องใช้สติ และไตร่ตรองถึงผลกระทบที่ตามมา อยากให้สื่อช่วยกันปกป้องและไม่ละเมิดสิทธิเด็ก โดยการนำเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ไม่แชร์และเผยแพร่ภาพหรือข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวในภายหลัง เพียงเท่านี้ คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมที่ดี และใช้โซเชียลอย่างมีความสุข

Shares:
QR Code :
QR Code