ใช้ดนตรี เปิดใจวัยรุ่น ลดเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์


 ใช้ดนตรี เปิดใจวัยรุ่น ลดเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิต จับมือค่ายเพลง "ไลฟ์อีส" ใช้ดนตรีพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่น เน้นทำให้เด็กเข้าใจตนเอง เคารพตนเอง ปรับตัว และออกแบบชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้ ย้ำปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น มาจากการที่ไม่ยอมรับและไม่เคารพตนเอง


วันนี้ (12 ก.พ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายนภ พรชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์อีฟ กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการตัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพเด็กวัยรุ่น เรื่อง School tour edutainment เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตของวัยรุ่น โดยใช้ดนตรีและกิจกรรมในโรงเรียนเป็นสื่อกลาง


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นในปัจจุบัน พบวัยรุ่นมีปัญหาภาวะซึมเศร้า ปัญหาการฆ่าตัวตาย และการรังแกกันในโรงเรียน โดยในปี 2562 ผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น อายุ 11-19 ปี โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในสถานศึกษาจาก 13 จังหวัด 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ พบว่า วัยรุ่นที่มีความคิดอยากตาย ร้อยละ 21 มีความคิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 5 และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 23 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียน ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตวัยรุ่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2017 รายงานว่า เด็กนักเรียนไทยร้อยละ 30 เคยถูกเพื่อนในโรงเรียนรังแก และจากการวิจัยสำรวจความชุกของการรังแกกันในโรงเรียน พบว่า นักเรียนที่เคยมีประสบการณ์การรังแกใดๆ เช่น เป็นผู้รังแก เป็นผู้ถูกรังแก หรือเป็นทั้งสองบทบาท ร้อยละ 21 ซึ่งในกลุ่มนี้มีนักเรียนที่พบโรคจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค ร้อยละ 60


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันและส่งเสริมให้วัยรุ่นมีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาสุขภาพจิต กล่าวคือ ทักษะชีวิตในเชิงสุขภาพจิต อารมณ์ และความคิด มีความสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันปัญหาด้านจิตใจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยในปี 1999 องค์การอนามัยโลก ได้สรุปทักษะชีวิตพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กและวัยรุ่น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การตัดสินใจและการแก้ปัญหา  2. การคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ 3. การสื่อสารและสัมพันธภาพ  4. ความเข้าใจตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และ 5. การจัดการอารมณ์และความเครียด 


พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ถึงปัญหาในวัยรุ่นแล้ว จะพบว่าสาเหตุหลัก คือ การที่เด็กไม่ยอมรับ และไม่เคารพตนเองมากพอ ดังนั้น หากเราสามารถช่วยให้เด็กหันมาเคารพตัวเองได้มากขึ้นแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพจิตนี้อาจจะลดลงตามไปด้วย การร่วมกับไลฟ์อีส ในครั้งนี้ก็เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตของวัยรุ่น โดยใช้ดนตรีและกิจกรรมในโรงเรียนเป็นสื่อกลาง ให้มีความเข้าใจและพอใจในตัวเอง (Self) ร่วมกับเห็นคุณค่าและขอบคุณคนรอบข้างในความสัมพันธ์ที่ดีรอบตัว (Relationship) สามารถปรับตัวในยุคสังคมปัจจุบัน ออกแบบชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้ และนำศักยภาพของตนเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงมีความสุขในการดำเนินชีวิต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนมัธยมศึกษา 13 เขตสุขภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 4 แห่ง มีระยะเวลาดำเนินโครงการร่วมกันประมาณ 1 ปี


นายนภ กล่าวว่า จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมผ่านการเล่นเกม ตอบคำถามง่ายๆ อย่างสนุก และผ่อนคลาย ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์ตนเองได้ว่า จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเองเป็นอย่างไร และนำผลของการวิเคราะห์นั้น มาตั้งคำถามกับตัวเองต่อได้ว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร จุดเด่นของโครงการนี้ คือ หลังจากวัยรุ่นได้วิเคราะห์ตนเองแล้ว จะมีมินิคอนเสิร์ตเล็กๆ เพื่อใช้ดนตรีในการเปิดใจให้วัยรุ่นได้มีเวลาซึมซับดนตรีในช่วงหนึ่ง และอยู่กับตัวเอง เพื่อกลับไปค้นหาตัวเองต่อไปว่า ความหมายของชีวิตเขาคืออะไร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ